เตือนฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูง 5-7 ธ.ค.จากนั้น ลมตอ.เฉียงเหนือ กำลังแรงพัดฝุ่นออกไป

05 ธันวาคม 2566, 06:00น.


             กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ช่วงวันที่ 5-7 ธ.ค.66 พื้นที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑลมีแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองสูง เนื่องจาก ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 4 ธ.ค.66 เป็นต้นไป สภาวะอากาศที่นิ่งและลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับใกล้ผิวพื้น โดยสถานการณ์จะบรรเทาลงหลังจากวันที่ 7 ธ.ค.66 เป็นต้นไป เนื่องจาก สภาพอากาศที่เปิดมากยิ่งขึ้นประกอบกับลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงยิ่งขึ้นจะช่วยพัดพาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสมอยู่ในพื้นที่ออกไปได้



           สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์



           สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.66 พบภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก-ปานกลาง



-ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 7.3 - 31.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)



-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 5.3 - 26.1 มคก./ลบ.ม.



-ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 10.8 - 22.8 มคก./ลบ.ม.



-ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 8.0 - 18.9 มคก./ลบ.ม.



-ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 4.9 - 8.4 มคก./ลบ.ม.



-กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ.ร่วมกับ กทม.ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 11.1-31.9 มคก./ลบ.ม.



          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 66 พบว่า เฉพาะปีนี้ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 9 ล้านคน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพประชาชนชัดเจน สสส. ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “ลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574)” ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) เพื่อสนับสนุนงานวิชาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หนุนเสริมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด สานพลังความร่วมมือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แก้ไขปัญหาพื้นที่แบบองค์รวม



           เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.66 ที่จ.เชียงใหม่ มีการจัดการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม”  เป็นความร่วมมือกันของ สสส. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ 



         เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือ บอร์ดฝุ่นชาติ เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดจัดทำแผนและดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบ และบูรณาการหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควัน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว



         ขณะที่ กรุงเทพมหานคร คาดการณ์เรื่องฝุ่น PM 2.5 ในช่วง 7 วันข้างหน้า 



#ฝุ่นPM



CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมควบคุมมลพิษสสส.,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ:ThaiHealth,กรุงเทพมหานคร



 

ข่าวทั้งหมด

X