หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.หนองบัวลำภู นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา อนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะทยอยเปลี่ยน สปก. 4-01 เป็นโฉนดฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
เมื่อมีการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดฯแล้ว เกษตรกรสามารถนำที่ดินดังกล่าวไปขาย หรือนำไปค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ ซึ่งใน จ.หนองบัวลำภู นั้น มีเกษตรกรครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 9.5 แสนไร่ หากมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น 1 แสนบาท/ไร่ ก็จะทำให้มีเงินทุนไหลสู่มือพี่น้องเกษตรกร จ.หนองบัวลำภู กว่า 1 แสนล้านบาท
“พอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร มันแปลว่า ซื้อขายได้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสถาบันการเงินได้ คือ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ได้ดีขึ้น มากขึ้น แล้วใครไม่ได้ทำเกษตรแล้ว หรือทำน้อยลงแล้ว หรือมีหนี้สิน อาจยอมขายบางส่วนเพื่อตัดหนี้เลย แล้วตั้งหลักใหม่ได้ พร้อมยกตัวอย่าง 9.5 แสนไร่ของ จ.หนองบัวลำภูนี่ ถ้าไร่หนึ่งมูลค่าขึ้นมา 1 แสนบาท หมายถึงเม็ดเงินที่เป็นเงินทุนไหลเข้ามาสู่มือพี่น้องเกษตรกรจังหวัดนี้ร่วมๆแสนล้านบาท ประกาศในราชกิจนุเบกษา 15 ธ.ค.2566 จะเริ่มทยอยแจกตั้งแต่ 15 ม.ค.2567”
ปัจจุบันมีที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศ ที่เข้าเงื่อนไขการปรับปรุงจากเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คิดเป็นเนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ โดยที่ดิน ส.ป.ก.ดังกล่าว ถือครองโดยเกษตรกร 1,628,520 ราย จำนวนเอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ครั้งที่ 19/2566 ที่มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน มีมติให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ประสงค์จะแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ โดยการนำที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกร โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และป้องกันมิให้ที่ดินตกอยู่ในมือของนายทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยเกษตรกรถือครองที่ดินแทน
ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ย้ำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ
1.การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่
2.สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด
3.ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด
4.สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) และ
5.ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี
#ที่ดินการเกษตร
#คณะรัฐมนตรี