จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17พ.ย.66 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.4 ที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ระดับความลึก 9 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร กรมทรัพยากรธรณี จัดกิจกรรมธรณีชวนคุย ตอน "แผ่นดินไหวเชียงตุง ว้าวุ่นถึงสกลนคร : อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไรให้ปลอดภัย?"
ดร.วีระชาติ วิเวกวิน ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นแผ่นดินไหวบนบก เป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างใหญ่ (Strong) และจากข้อมูลของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เกิดแผ่นดินไหวตามมา (Aftershock) จำนวน 33 ครั้ง ขนาด 2.2-4.7 และยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตามมาอีกในช่วงเวลา 4 เดือน หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลัก สาเหตุ เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่เชียงตุง (Keng Tung Fault) ที่มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมขวา เบื้องตัน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร นนทบุรี และอาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน เนื่องจาก ประเทศไทย อยู่ไม่ไกลจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในเมียนมา ทำให้เวลาเกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมาแล้ว ประเทศไทยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้ รวมถึงลักษณะทางธรณีวิทยา ที่มีตะกอนสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในตึกสูงจะรู้สึกได้ เนื่องจาก ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน (ดินเหนียวกรุงเทพฯ) ที่สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้ แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารสูงสั่นโยก หรืออาจเกิดความเสียหายได้
ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง สาเหตุของความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลกระทบไปยังอาคาร 9 ชั้นของโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร เกิดรอยแตกร้าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.4 อยู่ห่างจาก รพ. สกลนคร เป็นระยะทางประมาณ 670 กม. มีอัตราเร่งของพื้นดิน PGA ประมาณ 0.0006g ทำไมถึงสั่นจนอาคารร้าวได้ อาจเป็นเพราะที่ตั้งของโรงพยาบาลอยู่ริมหนองหาน ซึ่งมีลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นตะกอนใหม่ อยู่ในแอ่งตะกอนตื้นๆ ไม่ใช่ดินเหนียวอ่อนเหมือนพื้นที่กรุงเทพฯ จากข้อมูลในอดีต พบว่า รพ.สกลนคร มีตำแหน่งอาคารสร้างบนบ่อน้ำเดิม และพื้นที่ส่วนใหญ่สร้างอยู่ในพื้นที่เป็นหนองน้ำ จึงคาดการณ์ได้ว่า การสั่นของอาคารที่ตั้งอยู่บนพื้นดินถมใหม่
กรมทรัพยากรธรณี จะเร่งดำเนินการติดตั้งเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินเพื่อศึกษารอยเลื่อน ที่ซ่อนอยู่ใต้ดินในแอ่งตะกอนเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา พิษณุโลก เป็นต้น รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมแผ่นดินไหวที่จะมีผลกระทบต่อเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว รวมทั้งเร่งศึกษารอยเลื่อนที่คาดว่าจะมีพลังต่อไป
#แผ่นดินไหว
#รัฐฉาน
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมทรัพยากรธรณี