*คลังเสนอแผนกู้เงินโครงการมอเตอร์เวย์/สปช.ขอหารือร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง/ค้านม.นอกระบบ*

12 พฤษภาคม 2558, 07:42น.


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันนี้ มีการรายงานความคืบหน้าการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ และมีวาระพิจารณาอนุมัติเงินชดเชยแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างฝายราษีไศล



นอกจากนี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอแผนเงินกู้โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงินรวม 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้หารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วว่ากระทรวงการคลังพร้อมที่จะกู้เงินให้ และไม่ได้มีปัญหาการกู้เงินอย่างที่มีข่าวก่อนหน้านี้



นายธีรัชย์  อัตนวานิช  รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ครม. พิจารณาร่างกฎหมายการบริหารจัดการหนี้สินของหน่วยงานของรัฐ เพื่อพิจารณาบริหารจัดการหนี้สินสะสมที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว หนี้จากการดำเนินนโยบายสาธารณะ เช่น หนี้ของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นต้น โดยจะรวมหนี้ทั้งหมดมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณมากนัก ที่สำคัญคือมีการวางแผนการคืนหนี้ที่ชัดเจน กำหนดเป็นงบประมาณการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละปี ซึ่งจะมีการพิจารณาโดยให้กระทบต่องบประมาณด้านการลงทุนให้น้อยที่สุด



นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงเกษตรฯ นำแผนการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าข้าวกลับมาปรับปรุง และเสนอกลับไปให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าแผนงานเดิมบางเรื่องใช้เวลาดำเนินการยาว 3 ปี หรือ 5 ปี จึงได้กำชับให้วางแผนการปรับโครงสร้าง การผลิตข้าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อไม่ให้ภาระงานตกทอดถึงรัฐบาลต่อไป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ คาดว่า จะปรับปรุงแผนแล้วเสร็จและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ภายใน 2 สัปดาห์



นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า แผนการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวเดิมกระทรวงเกษตรฯ คาดว่า จะใช้งบประมาณรวมประมาณ 30,000 ล้านบาทแต่เมื่อมีการปรับปรุงแผนให้ดำเนินการแล้วเสร็จใน 2 ปี คาดว่าจะทำให้การใช้งบประมาณลดลงตามไปด้วย แต่แนวคิดการชดเชยให้ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นอ้อย หรือทำไร่นาสวนผสมนั้น ยังคงอัตราเดิมคือไร่ละ 5,000 บาท



ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานคณะฯ เมื่อวานนี้มีการหารือประเด็นการทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ และปรับลดเหลือ 100 มาตรา จากเดิม 315 มาตรา โดยนำรายละเอียด เช่น แนวทางปฏิบัติ, การสรรหา ไปบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องของหน่วยงาน



ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังสอบถามความเห็นกรณีที่ นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช.ส่งจดหมายเปิดผนึก ท้วงติงการแต่งตั้งคณะอนุกมธ.พิจารณายกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 12 คณะ และคณะอนุ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่จำเป็นต้องตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญจำนวน 15 คณะ โดยขอให้พิจารณาว่าเห็นด้วยกับคำท้วงของนายนิรันดร์หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่ามีสปช.ที่ทยอยลงชื่อสนับสนุน ซึ่งอาจนำไปสู่การทบทวนหรือยกเลิกอนุ กมธ.



ด้านพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในเร็วๆ นี้ และในการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช ในวันที่ 19 พฤษภาคมก็จะมีการหารือในเรื่องนี้



ส่วนที่พรรคการเมืองจะขอจัดประชุมพรรค โดยใช้เวทีของศูนย์ปรองดองเพื่อสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) นั้น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า หากมีการประชุมร่วม อาจมีการพูดไปคนละทางสองทาง และอาจเป็นการขยายความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่จะให้ ศปป.เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการพูดคุยเพื่อความปรองดอง



ด้านนายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่าในช่วง 15 วัน ก่อนถึงวันที่ 6 สิงหาคม ที่ สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่อยากให้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.บอกว่า ยังไม่ถึงเวลาตัดสินใจ คือ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงเชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะมีการอภิปรายรอบ 2 ดีกว่าให้ สปช.ลงมติโดยยังไม่เข้าใจเหตุผล กมธ.ยกร่างฯ อาจมีสิทธิที่รัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำได้



ส่วนข้อเสนอในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวานนี้  นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประมาณ 30 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อขอให้ยกเลิกมาตรา 82 (3) มาตรา 284(5) และมาตรา 285 เพราะอาจทำให้นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ไม่หวังดีเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จ



ด้าน รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่าง พ.ร.บ.มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยชี้แจงว่า ขณะนี้ข้าราชการกำลังจะหมดไป และพนักงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การออกนอกระบบจะช่วยทำให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยคล่องตัวมากขึ้น



แต่ในวันนี้ พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ จะไปยื่นหนังสือต่อ ประธาน สนช. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักราชเลขาธิการ เพื่อหยุด ม.นอกระบบและกฎหมายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน



ส่วนเรื่องความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการพบหารือกับนายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นยืนยัน จะเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในโครงการนิคมอุตสาห กรรมทวายรวมเป็นหุ้นส่วน 3 ฝ่าย คือ ไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ซึ่งการลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นยังยืนยันสนใจที่จะเข้าร่วมพัฒนาระบบรถไฟไทยคือ สายแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี-พุน้ำร้อนเน้นการขนส่งสินค้าได้ด้วยจะเชื่อมท่าเรือของ 2 ประเทศ คือแหลมฉบังและทวาย จะเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจแน่นอน

นอกจากนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงเดือน พ.ค.-มิถุนายนนี้ เพื่อลงนามในสัญญาในหลักการพัฒนาระบบรถไฟไทยทั้ง 2 เส้นทาง



....



   

ข่าวทั้งหมด

X