รู้จัก 'รอยเลื่อนเกงตุน' แผ่นดินไหวจากเมียนมา สะเทือนถึง กทม.

17 พฤศจิกายน 2566, 15:46น.


          กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงาน เมื่อเวลา 08.37 น. วันนี้ (17 พฤศจิกายน พ.ศ.2566)เกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางบริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 6.4 ความลึก 9 กิโลเมตร ห่างจาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.น่าน จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น กรุงเทพฯและปริมณฑล มีแผ่นดินไหวตาม ขนาด 2.8 - 4.7 จำนวน 12ครั้ง (ล่าสุดเมื่อเวลา 14.58 น. ขนาด 2.8 แมกนิจูด)



          นายสันทวัฒน์ สุทธรังสี ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาแผ่นดินไหวสึนามิ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ให้ข้อมูลว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เกิดจากรอยเลื่อนเกงตุน ในประเทศเมียนมา ที่เคลื่อนตัวเป็นคลื่น จนรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยความรุนแรงของแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งต้องพิจารณาจากความแรงสั่นสะเทือน และความลึกของแผ่นดินไหว เช่น กรณีที่เกิดขึ้น มีแรงสั่นสะเทือนครั้งแรก 6.4 แมกนิจูด ลึกเพียง 9 กิโลเมตร ทำให้แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายจังหวัด หากการเกิดแผ่นดินไหว มีขนาดรุนแรง แต่ลึกลงไปในพื้นดินมาก จะมีพื้นที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนไม่มาก



          ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาแผ่นดินไหวสึนามิ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว อธิบายว่า รอยเลื่อนเกงตุน เป็นรอยเลื่อนบนพื้นแผ่นดินในเมียนมา เป็นคนละส่วนจากวงแหวนแห่งไฟ ที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลก เช่นใน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  และนิวซีแลนด์  



          เมียนมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด เมื่อปี 2559 สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เกิดขึ้นเมื่อเวลา 20.55 น. วันที่ 13 เมษายน 2559 แผ่นดินไหวขนาด 7.1 จุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณพรมแดนประเทศพม่า-อินเดีย ความลึกประมาณ 120 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 523 กิโลเมตร



 



#แผ่นดินไหวเมียนมา 

ข่าวทั้งหมด

X