*วิปสปช.ยืนยันไม่แก้ไขคำขอแก้รธน.ร่างแรก นัดรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในวันพรุ่งนี้*

11 พฤษภาคม 2558, 17:26น.


การยื่นญัตติคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือสปช.ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลังจากจะครบกำหนดยื่นญัตติแก้ไขในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือ วิปสปช. ระบุว่า คณะผู้ประสานงานในการประมวลคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อคอยดูแลและจัดกลุ่ม8กลุ่มรวบรวมคำขอญัตติแก้ไขของสมาชิกสปช.ที่มีตัวเอง นายไพโรจน์ พรหมสาส์น และนายวันชัย สอนศิริ เป็นคณะผู้ประสานงานได้แจกแบบฟอร์มสอบถามการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับสมาชิกสปช.ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ขณะนี้มีสมาชิกสปช.ยื่นคำขอแก้ไขต่างๆเข้ามากว่า 107 รายแล้ว โดยคณะผู้ประสานงานยังไม่ได้จัดกลุ่มทั้ง 8 กลุ่มและยังไม่ได้ตรวจคำขอแก้ไขว่ามีมาตราใดบ้างและเป็นประเด็นใด ซึ่งจะรอให้ถึงวันพรุ่งนี้ที่เป็นวันรวบรวมญัตติคำถามและจัดหมวดหมู่ทั้งหมดก่อนจึงจะรู้ชัดเจน จากนั้นคณะผู้ประสานงานจะนำญัตติคำถามนี้มาจัดแบ่งตามกลุ่มญัตติคำถามและตั้งออกเป็น 8 กลุ่มก่อนนำเสนอสู่การประชุมวิปสปช.ให้รับทราบผลในวันพุธที่ 13  พ.ค.ซึ่งก็จะเป็นเพียงการรายงานผลให้ทราบเท่านั้น วิปสปช.และคณะผู้ประสานงานจะไม่มีสิทธิแก้ไขญัตติคำถามใดๆ ส่วนเงื่อนไขของกลุ่มทั้ง 8 กลุ่มจะประกอบด้วยการมีผู้เสนออย่างน้อย1คนและผู้รับรองอีก 25 คน คำขอแก้ไขต้องเห็นพ้องกันเหมือนกันทุกประเด็น และต้องมีการยกร่างคำขอแก้ไขพร้อมเหตุผลประกอบ ทั้งนี้ไม่มีการกำหนดว่าหนึ่งกลุ่มจะยื่นกี่ประเด็นหรือกี่มาตราและกลุ่มทั้ง 8 กลุ่มอาจมีประเด็นยื่นแก้ไขเดียวกันแต่แนวทางแก้ไขต่างกันก็ได้ ทั้งนี้ คณะผู้ประสานงานจะรวบรวมประเด็นที่เหมือนกันให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน จากนั้นแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้จัดทำคำขอและเป็นผู้ยื่นเองโดยตรงไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และจะต้องจัดตัวแทนกลุ่มละ 3 คนไปชี้แจงรายละเอียดต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯวันที่ 25 พ.ค.นี้ คณะผู้ประสานงานจะเรียกตรวจญัตติของ 8 กลุ่มอีกครั้งว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มีผู้รับรองหรือไม่ โดยจะไม่แก้ไขเนื้อหาใดๆ ส่วนประเด็นการแก้ไขนี้คงไม่มีประเด็นการทำประชามติแน่นอน และยังตอบไม่ได้ว่าประเด็นใดหรือมาตราใดที่สมาชิกจะยื่นแก้ไขมากที่สุด แต่หากมองตามกระแสข่าวที่ออกมาอาจจะเป็นประเด็นการเมือง ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าการขอแก้ไขญัตติคงมีทุกๆประเด็นคละกันไป และยืนยันว่าสปช.ให้อิสระกับความคิดของสมาชิก และการแก้ไขก็อยู่บนพื้นฐานความคิดของแต่ละคน ทั้งนี้ทราบมาล่าสุดว่ามีสมาชิกได้จับกลุ่มกันเพื่อรวบรวมประเด็นเดียวกันแล้วด้วย นายอลงกรณ์ ระบุว่า เมื่อสิ้นสุดจากวันที่ 25 พฤษภาคมแล้ว สมาชิกสปช.จะไม่มีสิทธิยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆได้อีก และมีหน้าที่เพียงรอการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯที่มีเวลาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 60 วันก่อนส่งให้สปช.ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X