การเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ถึงนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันต่อการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และไม่มีแผนสำรองใดๆ หากการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ส่วนกรณีที่มีภาคส่วนต่าง ๆ ไม่เห็นด้วย และมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนั้น นายจุลพันธ์ ยินดีให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบ เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
เมื่อถามว่ารัฐบาลได้ประเมินความเสี่ยงทางการเมืองไว้หรือไม่ หากว่าร่างกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านสภาฯ จะผูกพันกับอนาคตของรัฐบาล นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นไปได้ แต่ต้องยอมรับว่ากลไกดังกล่าวนั้น ตรงไปตรงมาที่สุด หากใช้วิธีตามมาตรา 28 หรือกลไกอื่น ๆ อาจจะเกิดคำครหาว่าหลบเลี่ยงหรือไม่ ดังนั้นวิธีดังกล่าวจึงตรงไปตรงมา โดยนำมาพูดคุยกันก่อน จากนั้นจึงบังคับใช้เป็นกฎหมายจึงเป็นช่องทางที่เหมาะสม
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเตรียมแผนสำรองหากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทไม่ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทยอย่างเดียวที่กังวล แต่ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ประสบปัญหาสะสมมาโดยตลอด ในเรื่องของ GDP ที่ไม่เติบโตมานาน ทุกคนมีความเป็นห่วงว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี เคยพูดไปแล้วว่า ประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤต และมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น และมั่นใจว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้น
ส่วนกรณีที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า ไม่ขัดขวางนโยบายแจกเงินดิจิทัล แต่หากรัฐบาลเดินหน้าต่อควรมีแผนสำรองเตรียมไว้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่อยากจะบอกว่ามีแผนสำรองอย่างไร แต่เราทำงานโดยมีหลายมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วันนี้โฟกัสเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต และที่ผ่านมารัฐบาลแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีขั้นตอนชัดเจน อีกทั้งต้องคอยฟังทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และขออนุมัติจากรัฐสภา ที่ชัดเจนออกมาด้วย
#แจกเงินดิจิทัล