ความคืบหน้าการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า มีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มอีก 1 คนคือ นายอาบู ฮะอุรา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เขต 2 อ.ควนโดน จ.สตูล กับมีผู้เข้ามอบตัวอีก 2 คนซึ่งเป็นเครือข่ายของนายอาบู ในส่วนของการออกหมายจับมีการออกหมายจับผู้ต้องหา 49 คนมีที่เข้ามอบตัวและอายัดตัวไว้ 15 คน ซึ่งทั้งหมดถูกนำตัวไปยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลจังหวัดนาทวี และพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทุกคน ซึ่งศาลได้อนุมัติตามคำร้อง
สำหรับนายอาบู ถูกส่งตัวจาก จ.สตูล มาที่ สภ.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งความดำเนินคดีใน 3 ข้อหา ทั้งค้ามนุษย์ หน่วงเหนี่ยงกักขัง และเรียกค่าไถ่ ซึ่งจะนำไปสู่หลักฐานเชื่อมโยงไปถึงนายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ อดีตนายก อบจ.สตูล ซึ่งเป็นหัวหน้าเครือข่ายค้ามนุษย์ใน จ.สตูล และถูกออกหมายจับแล้วเช่นกัน แต่หลบหนีออกนอกพื้นที่ไปแล้ว
ผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจ 2 นาย คือ ร.ต.ท.มงคล สุโร ผบ.หมวด ตชด.4303 และ ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด ผบ.หมู่งานป้องกันปราบปราม สภ.ปาดังเบซาร์ ทางต้นสังกัดได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว ส่วนนายบรรจง ปองผล นายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา, รองนายกเทศมนตรีตำบล ปาดังเบซาร์ และ ส.ท.เทศบาลตำบล ปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองท้องถิ่น ทางผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) สงขลา มีคำสั่งให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่แล้ว
นอกจากนี้จากการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุดใน ต.ปาดังเบซาร์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบหลักฐานสำคัญที่เป็นบัญชีจ่ายเงินให้กับนายตำรวจระดับสูงของ จ.สงขลา และ บช.ภ.9 หลายคน ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อดำเนินคดี และมีคำสั่งย้าย ซึ่งพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เตรียมขออนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อโยกย้ายนายตำรวจระดับผบก.จนถึง ผบช.นอกฤดูกาล
สำหรับชาวโรฮีนจา และชาวบังกลาเทศที่ลักลอบเข้าเมืองหรือถูกหลอกลวงมามีจำนวนเพิ่มจาก 180 เป็น 240 ราย ขณะนี้ควบคุมตัวไว้ที่ศาลาประชาคม อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยมีการประสานกับทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำหน้าที่คัดแยกเพื่อสอบปากคำ ซึ่งหากเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จะส่งตัวให้ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวง แต่ถ้าไม่ใช่จะถูกแจ้งข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งพนักงานสอบสวนจะส่งฟ้องศาล เมื่อศาลตัดสินแล้วจะส่งตัวให้อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่ง ตม.จะได้แจ้งไปทางกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประสานสถานทูตบังกลาเทศมาร่วมตรวจพิสูจน์สัญชาติ เพื่อผลักดันส่งตัวกลับประเทศของเขาต่อไป
โดยในระหว่างการสอบสวนกลุ่มผู้อพยพได้ชี้ตัวผู้ที่เป็นผู้คุมที่ไม่ทราบสัญชาติแน่ชัด 4 คนที่จะทำหน้าที่ควบคุมผู้อพยพแต่ละกลุ่มตามคำสั่งของนายหน้า เจ้าหน้าที่จึงแยกตัวไปควบคุมที่ สภ.รัตภูมิ เพื่อรอสอบสวนขยายผล อีกทั้งเกรงผู้คุมทั้ง 4 ราย จะถูกรุมทำร้าย
และคดีแชร์ลูกโซ่เครือข่าย บ.ยูฟันสโตร์ ซึ่งพล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. นำหมายศาลอาญากรุงเทพใต้ เข้าตรวจค้นบ้านของผู้ต้องหา พบเอกสารธุรกรรมทางการเงิน และเอกสารการแนะนำธุรกิจให้มาร่วมลงทุนกับบริษัท รวมถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทจึงยึดไว้ตรวจสอบ รวมมูลค่าบ้านและทรัพย์สินกว่า 12 ล้านบาท ที่จะนำส่งให้ ป.ป.ง.ตรวจสอบต่อไป ทั้งพบการโอนเงินให้กับบริษัทยูฟันรวมทั้งหมด 177 ล้านบาท และบุคคลอื่นอีกหลายครั้ง
ขณะนี้มีผู้เข้าแจ้งความแล้วกว่า 1,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท จากที่ได้มีการยึดทรัพย์ทั้งหมดรวมวันนี้แล้ว มีมูลกว่า 812 ล้านบาท ซึ่งขอย้ำว่าให้ผู้เสียหายรีบเข้าแจ้งความ มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ในการรับเงินเยียวยาตามกฎหมาย
ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่ง กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอให้ปรับลดสัดส่วนปริมาณสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศลง จากปัจจุบันที่กำหนดให้ภาคเอกชนสำรองน้ำมันร้อยละ 6 ของปริมาณการค้าประจำปี หรือ 43 วันของความต้องการใช้ในประเทศ หรือประมาณ 28 ล้านบาร์เรล โดยจะปรับลดลงร้อยละ 1 ให้เหลือการสำรองเพียงร้อยละ 5 หรือเท่ากับมีสำรองน้ำมัน 36 วัน เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่าการสำรองน้ำมันร้อยละ 6 ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการน้ำมันเพิ่มขึ้น
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักสดที่นิยมบริโภค 7 ชนิดจากตลาดค้าส่ง-ห้างค้าปลีกทั่วประเทศ พบสารพิษในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยในคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ซึ่งนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า แนะนำให้ล้างผักให้สะอาดทุกครั้ง โดยอาจแช่ผักในน้ำที่ที่ผสมน้ำส้มสายชูหรือเกลือ หรือผงฟู นานประมาณ 10-15 นาที แล้วนำผักมาล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งยังสามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้เช่นกัน
และจากรายงานที่ระบุว่า ประเทศไทยได้เดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยในปี 2573 จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสุดยอด หรือการที่สัดส่วนผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศส่งผลให้ภาคเอกชนขาดแคลนแรงงาน เพราะเมื่อเกษียณไปแล้ว จะไม่มีแรงงานวัยหนุ่มสาวเข้ามาทดแทน ส่งผลกระกระทบต่อขีดความสามารถในการผลิต การลงทุน และการพัฒนาประเทศในภาพรวม ทำให้มีการนำเสนอแนวคิดเรื่องการขยายอายุเกษียณทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยทางมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) พร้อมด้วย นักวิชาการ ตัวแทนผู้สูงอายุ และแรงงานผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความต้องการและรวบรวมข้อคิดเห็น เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป โดยอาจให้ขยายอายุเกษียณภาครัฐเป็น 65-70 ปี สำหรับประเภทงานที่ใช้วิชาการระดับสูง เช่น อาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนงานที่ใช้กำลังกายหนัก หรืองานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ขับเครื่องบิน ควบคุมจราจร ทหาร ตำรวจ ควรยกเว้นให้เกษียณอายุได้เร็วขึ้นที่ 55 ปี หรือให้แรงงานสามารถตัดสินใจเลือกเองว่าจะเกษียณอายุหรือไม่ เมื่อทำงานจนถึงอายุ 55 ปี
*-*