*ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ส่งความช่วยเหลือเนปาล/นายกฯยังไม่ปรับครม./คมนาคมเตรียมเสนอแผนแก้ไขข้อบกพร่องต่อไอซีเอโอ*

11 พฤษภาคม 2558, 07:28น.


เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สหรัฐอเมริกาใช้สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อเป็นสนามบินต่อระยะในการลำเลียงบรรทุกเครื่องอุปโภคและบริโภค ช่วยเหลือชาวเนปาลที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เมษายนนี้ พร้อมให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติไทย-สหรัฐฯ เพื่อเนปาล ขึ้นที่สนามบินอู่ตะเภา ระหว่างวันที่  8-31 พฤษภาคมนี้ โดยจะทำหน้าที่ประสาน และกำกับดูแลการปฏิบัติของฝ่ายสหรัฐให้เป็นไปตามข้อตกลงมีกำลังพลปฏิบัติงานร่วมกันฝ่ายละ 10 นาย มี พล.ร.ต.ไกรศรี เกษร รองเจ้ากรมยุทธการทหาร เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ



ส่วนความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมยื่นคำขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็นว่า เมื่อมีการนำเสนอก็จะต้องมีการให้ชี้แจงและอธิบายเหตุผล โดยกมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนจะต้องร่วมกันพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม กรณีที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจถูกปรับลดลงถึง 50 มาตรานั้น เห็นว่า หากตัดลดลงไป 50 มาตราจริงก็อาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ก็มีความเห็นพ้องกันว่า ควรพิจารณาตัดทอนร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นลงอีก โดยบางมาตราอาจจะตัดทิ้ง แล้วไปบัญญัติไว้เป็นพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญแทน แต่ไม่อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับความสั้นหรือยาวของรัฐธรรมนูญ ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่อ่านแล้วจะต้องเข้าใจและครอบคลุม



โดยในการแปรญัตติของ สปช. นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สปช. กล่าวว่ามีผู้สนับสนุนครบ 25 คนแล้ว และจะขอปรับหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้มีบทบัญญัติกำหนดชัดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นกรอบให้รัฐบาลต้องดำเนินการตาม



ส่วน นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สปช. เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า ข้อกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่น่าจะไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งน่าจะขัดกับหลักความเป็นอิสระขององค์กรบริหารท้องถิ่น จึงเห็นสมควรแก้ไขเป็นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และเห็นควรกำหนดให้มีคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติเพื่อดูแลท้องถิ่น ซึ่งจะมีการสรุปคำขอแก้ไขเพื่อนำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป



ขณะที่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 สนับสนุนให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต้องใช้กับคนทั้งประเทศ จึงต้องให้ประชาชนตัดสิน แต่การตัดสินใจเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)



โดยในวันที่ 15-16 พฤษภาคมนี้ สนช.จะมีการประชุมนอกรอบ เพื่อให้สมาชิกอภิปรายความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ



ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างรอบคอบ โดยให้ส่งรายงานต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 14 พฤษภาคม จากนั้นจะนำไปหารือในที่ประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยความเห็นในการแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต้องส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้



ส่วนที่มีความเห็นเรื่องการปรับครม. โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรียังไม่มีแนวความคิดที่จะปรับ ครม.  และย้ำให้รัฐมนตรีทุกคนทำหน้าที่ในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งในกรณีที่มีการวิจารณ์การทำงานของทีมเศรษฐกิจนั้น ที่ผ่านมาก็ได้มีดำเนินงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยใช้หลักสถิติ ข้อมูลตัวเลขที่จับต้องได้



ส่วนเรื่องการบิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan) ที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (เอสเอสซี) ให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พิจารณา โดยจะเสนอนายกฯ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ลงนามปรับโครงการกรมการบินพลเรือนใหม่ รวมถึงการขออนุมัติแผนการฝึกอบรม แผนการใช้งบประมาณ และการบรรจุเจ้าหน้าที่ที่จะรับผิดชอบการตรวจสอบและออกใบอนุญาตการบินรวม 53 คนด้วย



โดยในเบื้องต้นจะยุบกรมการบินพลเรือน (บพ.) และตั้งองค์กรใหม่ 4 หน่วยงาน คือ กรมการท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย และ สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ คาดว่าภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ทั้ง 4 องค์กรจะเริ่มดำเนินการได้เป็นทางการ



ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ตัวแทนของกรมการบินพลเรือนจีนจะมาพบนายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน เพื่อขอตรวจสอบมาตรฐานการกำกับดูแลด้านการบิน หลังจากที่ไอซีเอโอตรวจพบความบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน



ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีมีผู้ร้องเรียนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ ค่านิยม 12 ประการ ในราคาที่แพงเกินจริง ซึ่งยังเหลือการขอเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกเพียงรายการเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อได้เอกสารก็น่าจะสรุปคดีได้เลย โดยกรณีนี้ กระทรวงไอซีทีดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอกชนทำสติ๊กเกอร์ไลน์ ค่านิยม 12 ประการ ด้วยวงเงินกว่า 7 ล้าน 1 แสนบาท ส่งผลให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นงบประมาณที่แพงเกินจริง



*-*

ข่าวทั้งหมด

X