การตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกที่ประสบเหตุ ตกบ่อพักบนถนนสุขุมวิท บริเวณหน้าซอยสุขุมวิท 64/1 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้ข้อมูลจากงานวิจัยการชั่งน้ำหนักรถของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า บรรทุกคันเดียวกันที่เกิดเหตุถนนยุบนั้น มีข้อมูลจากเครื่องวัด Bridge Weight Motion หรือเครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน พบว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 เวลา 15.32 น. รถบรรทุกคันนี้บรรทุกน้ำหนัก อยู่ที่ 61.4 ตัน ขณะที่น้ำหนัก ตามที่ระเบียบกรุงเทพมหานครได้ประกาศใช้เมื่อปี 2565 อยู่ที่ 25 ตัน แต่นายชัชชาติ ยังไม่ยืนยันว่า เป็นการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากต้องรอกระบวนการสอบสวนของตำรวจ ตรวจหาน้ำหนักที่แท้จริงในวันเกิดเหตุ แต่ข้อมูลที่นำมาแสดงต่อสื่อในครั้งนี้เป็นงานวิจัยที่เก็บไว้ เป็นการค้นหาข้อมูลเลขทะเบียนซึ่งเป็นคันเดียวกัน หากดูจากข้อมูล พบว่า รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 36.4 ตัน และวิ่งนอกเวลาด้วย
หากพิจารณาตามอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สามารถบังคับใช้ระเบียบน้ำหนักรถบรรทุกได้ แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ กทม. โดยเฉพาะเทศกิจ ไม่มีประสบการณ์ ความรู้ ในการตรวจจับน้ำหนักของรถบรรทุก ต้องอาศัยความร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งในอนาคต จะมีการตรวจเอาผิดรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน โดยเมื่อวานนี้ หลังจากที่ได้หารือกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องวางมาตรการร่วมมือกันทุกฝ่ายดำเนินการสกัดกั้นรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
นายชัชชาติ ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังสำคัญที่จะบังคับใช้กฎหมาย เพราะเป็นคดีอาญา เพราะเป็นผู้เขียนสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง
ส่วนปัญหาเรื่องส่วยจากสติกเกอร์สีเขียวที่พบหน้ารถบรรทุก ข้อมูลจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการส่งส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินและวิ่งนอกเวลาได้ กทม.ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่น จะดำเนินการอย่างไร ถ้าหากตำรวจไม่ดำเนินการ นายชัชชาติ ยืนยันว่า จะต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างจริงจัง และยืนยันว่า สำนักงานเขต ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยอย่างแน่นอน เพราะดูเฉพาะความสะอาด เช่น มีผ้าคลุมรถหรือไม่ หากมีความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน คือ กทม. กรมทางหลวง และตำรวจท้องที่มาร่วมทำงานสร้างความมั่นใจให้กับพื้นที่ เมื่อมีหลายฝ่ายทำงานร่วมกัน จะทำให้ปัญหาการจ่ายส่วยลดลงเพราะมีหลักฐาน โดยเชื่อว่า ตำรวจจะเอาจริงเอาจัง เนื่องจาก ปัจจุบันประชาชนเห็นหมด แนวปฏิบัติเดิมๆ อาจจะใช้ไม่ได้ในยุคนี้ สังคมจะเห็นว่าใครทำผิดและใครทำถูก ส่วนกทม.จะสำรวจปัญหาว่ามีในส่วนไหนเช่นกัน
สำหรับมาตรการจากนี้ นายชัชชาติ ระบุว่า ได้วางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น กทม.จะขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ ไปที่ไซต์งานก่อสร้างเพื่อสุ่มตรวจน้ำหนักรถบรรทุก ได้สั่งการสำนักงานเขตทุกเขตสำรวจไซด์งานก่อสร้างที่มีงานถมดิน ทั้งหมด 319 แห่ง ให้เจ้าหน้าที่สังเกตด้วยตาเปล่า หากพบรถบรรทุกที่คาดว่ามีน้ำหนักเกิน จะนำเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ ที่ได้รับการประสานงานจากกรมทางหลวง 2 เครื่องไปสุ่มตรวจ หากพบว่าไซต์งานใด สั่งให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินจะมีการตักเตือนและอาจสั่งหยุดการก่อสร้าง
ส่วนในอนาคตทาง กทม.เตรียมจะติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัด Bridge Weight Motion หรือเครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน 10 จุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการวิจัยเสร็จสิ้นเสียก่อน คาดว่าจะติดตั้งได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนปีหน้ามีแผนการขยายการติดตั้งให้เพิ่มมากขึ้นคาดว่า 100 จุด แต่จะไม่ระบุว่า จุดไหนเพื่อให้เกิดการบังคับใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ต่างประเทศมีการใช้เครื่องวัดตัวนี้ในหลายประเทศมีค่าความแม่นยำที่ยอมรับได้
สำหรับการดำเนินคดีทุกรายหรือไม่ นายชัชชาติ ระบุว่า ต้องรอให้เครื่องวัดมีความพร้อมเสียก่อน คาดว่าจะมีการติดตั้งเครื่องวัด Bridge Weight Motion ได้กระจายในปีหน้า ยอมรับว่า จะต้องมีการเก็บข้อมูลหลายขั้นตอน.และต้องศึกษาข้อกฎหมายร่วมด้วยเพื่อให้มีน้ำหนักในการยื่นฟ้องต่อศาล ซึ่งกทม.จะ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้นและจะเอาผิดไม่ใช่เฉพาะเพียงคนขับรถบรรทุกเท่านั้น แต่จะเอาผิดไปถึงผู้รับเหมาและผู้ว่าจ้างรถบรรทุกด้วยเพราะถือเป็นการทำผิดร่วมกัน
การประชุมเมื่อช่วงเช้า นายชัชชาติ ได้สั่งกำชับให้ฝ่ายเกี่ยวข้องตรวจสอบงานก่อสร้างบนถนนที่เป็นบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่มีอยู่ 879 แห่งบนถนนในกรุงเทพฯ และบ่อของสำนักการระบายน้ำ ที่มีอยู่อีกกว่า 30 แห่ง เพื่อเข้มงวดกับมาตรฐานในระหว่างการก่อสร้าง ช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อีก รวมถึงกำชับให้สำนักงานเขต ออกสำรวจไซด์งานก่อสร้างอีก 319 แห่ง ห้ามบรรทุกน้ำหนักเกินเด็ดขาด
#ส่วยสติกเกอร์
#10ล้อบรรทุกน้ำหนักเกิน