หลังจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ในเดือนต.ค.66 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 65 ลดลง 0.31% (YoY) เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ระบุว่า แนวโน้มเงินเฟ้อยังชะลอตัว สาเหตุหลักจากราคาสินค้าหลายชนิดที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อน สศค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 66 และ ปี 67 จะอยู่ที่ 1.5%และ 2.3% ตามลำดับ
สาเหตุหลักที่เงินเฟ้อลดลง มาจากหมวดพลังงานเป็นหลัก สำหรับราคาสินค้าในหมวดยานพาหนะ และน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับลดลง -0.19% และหมวดไฟฟ้าน้ำประปาและแสงสว่าง ปรับลดลง -3.15%ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงหมวดอาหารสด โดยเฉพาะ หมวดเนื้อสัตว์ ปรับลดลง -17.85%
ส่วนราคาสินค้าประเภทอื่น ยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เช่น หมวดข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับเพิ่มขึ้น 4.79% หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับเพิ่มขึ้น 2.62% และหมวดอาหารสำเร็จรูป ปรับเพิ่มขึ้น 1.44% ที่ยังมีราคาเพิ่มสูงขึ้น
สศค.มองว่า ยังไม่เกิดเงินภาวะฝืด เนื่องจาก ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า ในอนาคตเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ภาวะเงินฝืด คือ การลดลงของระดับราคาทั่วไปของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 0% หรืออัตราเงินเฟ้อติดลบ
#ภาวะเงินฝืด
#ภาวะเงินเฟ้อ
#ราคาสินค้าลดลง
แฟ้มภาพ