คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(UNSC)เปิดประชุมในสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ(UN)ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯเมื่อวันจันทร์(6 พ.ย.66) เพื่อพิจารณาร่างมติการให้หยุดการสู้รบในเขตฉนวนกาซา ตามที่ 10 ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกถาวรของ UNSC คือ แอลเบเนีย บราซิล เอกวาดอร์ กาบอง กานา ญี่ปุ่น มอลตา โมซัมบิก สวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) ร่างขึ้นมา
ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างนายโรเบิร์ต วู้ด รองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็นว่า ที่ประชุม UNSC ล้มเหลวในการโน้มน้าวให้บรรดาสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ลงฉันทามติเกี่ยวกับร่างข้อเสนอให้คู่ขัดแย้ง คือ อิสราเอลและกลุ่มฮามาส ยุติการสู้รบในเขตฉนวนกาซา ระบุว่า สหรัฐฯและอังกฤษ ซึ่งเป็น 2 ใน 5 สมาชิกถาวรของ UNSC คัดค้าน
มหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯและอังกฤษคัดค้านการที่ร่างมติดังกล่าวมีถ้อยคำที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที(immediate ceasefire) นอกจากนี้ ที่ประชุมพูดคุยเรื่องการพักรบระยะสั้นๆเพื่อมนุษยธรรม(humanitarian pauses) และมหาอำนาจชาติตะวันตกอยากให้ใช้คำ humanitarian pauses ในร่างมตินี้จะดีกว่า แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมไม่อาจจะสรุปความเห็นของที่ประชุมในทิศทางเดียวกัน
นายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น แสดงความเห็นในทำนองเดียวกับนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ย้ำว่า เขตฉนวนกาซากลายสภาพเป็นหลุมฝังศพสำหรับเด็กๆและไม่มีใครอยู่อย่างปลอดภัยอีกต่อไป พร้อมเสนอให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายหยุดยิง เพื่อเปิดทางให้องค์กรการกุศล ขนสิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าไปยังเขตฉนวนกาซาโดยปลอดภัย ระบุว่า ขณะที่ UNSC เปิดประชุมหารือมติเรื่องนี้ ชาวปาเลสไตน์ยังคงถูกสังหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กๆได้รับผลกระทบหนักมากจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ขณะที่ นางลานา นูสเซเบห์ เอกอัครราชทูตประจำยูเอ็นของ UAE ย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎกติกาการทำสงคราม แสดงความเป็นกังวลเรื่องตัวประกัน ขอให้กลุ่มฮามาส ปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งดูแลความปลอดภัย และปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะตัวประกันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
ในการประชุมครั้งก่อนๆ ที่ประชุม UNSC ล้มเหลวในการลงมติเช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐฯใช้สิทธิ์ Veto ยับยั้งมติของที่ประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหายุ่งยากในการที่ UNSC จะลงมติในทิศทางเดียวกันเรื่องปัญหาพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์
#UNSC
#ร่างมติกาซา