*รองปธ.สนช.ชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างการทำประชามติทั้งฉบับหรือรายมาตรา*

09 พฤษภาคม 2558, 16:16น.


การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กล่าวว่า ต้องเป็นมติร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ต้องร่วมกันใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จากนั้นส่งให้สนช.พิจารณาภายใน 15 วัน นายสุรชัย ชี้แจงว่า หากจะทำประชามติทั้งฉบับก็เหมือนกับกรณีรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้ประชาชนตัดสินใจว่ารับหรือไม่รับ ส่วนครั้งนี้ถ้าจะทำทั้งฉบับต้องคิดต่อว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร จะให้อำนาจคสช.ตัดสินใจ หรือจะให้กระบวนการยกร่างใหม่ ส่วนอีกมุม หากจะทำประชามติเป็นรายมาตราก็จะไม่มีผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกทั้งฉบับ แต่จะตกเฉพาะมาตราที่ไม่ผ่านเท่านั้น  วิธีนี้อาจจะสะดวกและเป็นประโยชน์แก้เฉพาะประเด็นที่ไม่ผ่าน แต่ว่าจะต้องคิดให้ละเอียด แต่มีข้อเสียคือ จะทำให้ประเด็นที่เหลือกับประเด็นที่ไม่ผ่านไม่สอดคล้องกัน  



ด้านพล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯไม่มีสิทธิเสนอความเห็นเรื่องการจัดทำประชามติ เพราะเป็นอำนาจของสองหน่วยงานดังกล่าว  แต่ความเห็นส่วนตัวก็ยินดีหากจะทำประชามติ ส่วนจะทำเป็นรายมาตราหรือจะแก้ไขทั้งฉบับ พล.อ. เลิศรัตน์ กล่าวว่า ขออย่าสนใจรายละเอียดในจุดนี้  เพราะอาจเร่งมากเกินไปและอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ สำหรับรูปแบบการทำประชามติก็ต้องให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 40 กว่าล้านคนเป็นผู้เลือกโดยรูปแบบอาจคล้ายกับการเลือกตั้งว่าจะให้กากบาทเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X