*โฆษกกมธ.ยกร่างรธน. ชี้ที่มานายกฯ–ที่มาส.ว.เป็นประเด็นร้อนที่สปช. ขอแก้ไขมากสุด*

09 พฤษภาคม 2558, 15:31น.


การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติหรือ สปช.เพื่อยื่นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า สปช.มีเวลา 30 วันนับจากอภิปรายรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จโดยมีเวลาถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ในการยื่นญัตติเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยคำขอแก้ไขทราบว่าสปช.ได้จัดแบ่งตามกลุ่มเป็น 8 กลุ่มในการแก้ไข ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องมีผู้เสนอ 1 คนและผู้รับรองอีก 25 คน โดยแต่ละกลุ่มจะเสนอแก้ไขได้โดยไม่จำกัดมาตราและภาคต่างๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเสนอการแก้ไขเข้ามา คาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ว่าด้วยระบบผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมืองที่ดี รวมทั้งที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐสภา จะเป็นส่วนที่มีสมาชิกสปช.ให้ความสนใจมากที่สุด เพราะมีการอภิปรายอย่างมากในสภา ส่วนภาคอื่นๆ ก็เป็นตามความสนใจของสมาชิกแต่ละคนที่อยู่ในคณะกรรมาธิการสปช.ด้านต่างๆซี่งก็จะลงลึกถึงรายละเอียดในแต่ละด้าน ทั้งนี้ย้ำว่าคำขอแก้ไขต้องส่งที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯวันที่ 25 พฤษภาคม เช่นเดียวกับคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ที่จะมีการพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ คาดว่าเป็นการเสนอแนะของแต่ละกระทรวงตามที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องในรัฐธรรมนูญโดยคำขอแก้ไขก็ต้องมาถึงคณะกรรมาธิการฯวันที่ 25 พฤษภาคมเช่นกัน เมื่อได้รับคำขอมาแล้วคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะนำมาจัดหมวดหมู่และนัดหารือเพื่อพิจารณาถึงประเด็นต่างๆ ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการฯจะพิจารณาทุกประเด็นที่ส่งมาเพื่อให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ส่วนการพูดคุยกับคสช. ครม. ก็คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องพูดคุยก่อนวันที่ 19 พ.ค.นี้แล้ว เนื่องจากในการประชุมแม่น้ำ 5 สายก็มีการทำความเข้าใจกัน และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯก็เคยคุยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว  ส่วนกรณีที่นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าสามารถตัดคำฟุ่มเฟือยในรัฐธรรมนูญของแต่ละมาตราออกได้และจะช่วยตัดลดออกกว่า20-30 มาตรา พล.อ. เลิศรัตน์ ระบุว่าก็มีโอกาสเป็นจริงและ เป็นความคิดของแต่ละฝ่ายที่มีสิทธิเสนอว่าต้องการสิ่งใด ซี่งตัวเองจะนำมาพูดคุยในคณะกรรมาธิการยกร่างฯอีกครั้ง พร้อมระบุว่าการปฎิรูปประเทศเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานานอาจหลายสิบปี ส่วนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกกว่า 12 ฉบับ กำลังพิจารณารายละเอียดเบื้องต้น และต้องรอร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายให้แล้วเสร็จทั้งหมด จึงจะเริ่มลงรายละเอียดได้ เพื่อให้กฎหมายลูกสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X