ก.คลัง ปรับลด GDP ไทยปีนี้ เหลือ ร้อยละ 2.7 เหตุสงคราม-ส่งออก-เศรษฐกิจคู่ค้าหดตัว

27 ตุลาคม 2566, 16:08น.


          สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในปี 2566  นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 พร้อมทั้งได้ ประกาศปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากเป้าหมายเดิมร้อยละ 3.5 คาดว่าจะเหลือการขยายตัวที่ร้อยละ2.7  โดยภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 27.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 148.3 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ225.5  จากปี 2565



          ขณะการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.8 รวมถึงแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 



          สำหรับแรงถ่วงสำคัญนั้น มาจาก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่คาดว่าปีนี้ จะหดตัวที่ติดลบร้อยละ 1.8 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย  นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐอาจหดตัวติดลบร้อยละ 3.4 เช่นเดียวกับ การลงทุนของรัฐ  โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา



          สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP 



          สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี หลังคาดว่าการส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง พร้อมกับการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของการท่องเที่ยวไทย 



          อย่างไรก็ดี การประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ในครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมผลกระทบของมาตรการเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet



          สำหรับ 4 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่  ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามอิสราเอล-ฮามาส และความขัดแย้งของจีนกับสหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก ต้นทางจากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป  สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย  ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2567 ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร 

ข่าวทั้งหมด

X