พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้ปรากฏภาพข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำภาษาไทยที่ชัดเจนของคำว่า “โรฮีนจา” (Rohingya) และคำว่า เมียนมา (Myanmar) ซึ่ง กอ.รมน. ได้ใช้ถ้อยคำนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในขณะที่ส่วนใหญ่ใช้คำว่า “โรฮิงญา” และ “เมียนมาร์” ขอชี้แจงการใช้ถ้อยคำภาษาไทยของคำว่า โรฮีนจา (Rohingya) และคำว่า เมียนมา (Myanmar) ของกอ.รมน.ว่าเป็นไปตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ได้ประสานมายังกอ.รมน. เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาพม่าของราชบัณฑิตยสถาน คำว่า Rohingya เมื่อทับศัพท์เป็นภาษาไทยจะได้ว่า “โรฮีนจา” และคำว่า Myanmar เมื่อทับศัพท์เป็นภาษาไทยจะได้ว่า “เมียนมา” ด้วยเหตุผลว่า gy เป็นเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย ตัวอักษรไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “จ” ประกอบกับหลักเกณฑ์ของพม่ากำหนดให้ in แทนเสียงอีน และ ar แทนเสียงอา