ปปง. แถลงยึด-อายัดทรัพย์หลายคดี มูลค่ากว่า 9,400ล้านบาท ส่งคืนแผ่นดินกว่า 8,800 ล้านบาท

19 ตุลาคม 2566, 14:45น.


          นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง.ประจำเดือนตุลาคม โดยผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2566 เห็นชอบให้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด โดยยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 9 คดี ทรัพย์สิน 75 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 33 ล้านบาท



          ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน ยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน ลักลอบหนีศุลกากรและการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีคดีที่สำคัญ เช่น คดีนายบรม ศรีมงคล กับพวก กระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยสืบเนื่องมาจากการสืบสวนการกระทำความผิด ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนของ น.ส.สรารัตน์ หรือแอมไซยาไนด์ โดยมีข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินกับกลุ่มบัญชีเงินฝากธนาคารที่ใช้ในการกระทำผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว 26 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่า 12 ล้านบาท



          นอกจากนี้ยังมีการส่งเรื่องให้อัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 22 คดี ทรัพย์สิน 1,812 รายการ พร้อมดอกผล 531 ล้านบาท เช่น คดีของนายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว กรณ์ชายานันท์ กับพวก กระทำความผิดมูลฐานยาเสพติด มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและฟอกเงิน สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสถานบันเทิงจินหลิง โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 53 รายการ มูลค่าประมาณ 37 ล้านบาท เช่น



          คดีนายประสิทธิ์ หรือเหว่ยเซียะกัง ราชายาเสพติด กับพวก ในความผิดมูลฐาน ยาเสพติดที่นำเงินที่ได้จากการขายยาไปประกอบธุรกิจบังหน้า ซึ่งเป็นกรณีมีการยึดทรัพย์เพิ่มเติมจากเคยดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 โดยคณะกรรมการธุรกรรม มีมติส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 14 รายการ มูลค่าประมาณ 101 ล้านบาท



          คดีนายวุฒิมา เถาว์หมอ หรือ อดีตพระหมอ เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับหน้าที่ราชการและความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งดำเนินการตามที่นายคม คงแก้ว หรืออดีตพระคม สั่งการให้นำเงินสดที่ได้รับบริจาคจากประชาชนไปฝากเข้าบัญชีธนาคารส่วนตัวและขนย้ายทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องไปซุกซ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1,512 รายการพร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 301 ล้านบาท ทางผู้เสียหายสามารถร้องสิทธิ์ ขอคืนทรัพย์ดังกล่าวได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย​ โดยผู้เสียหายมาแสดงเจตจำนงได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป



          นอกจากนั้นมีการส่งเรื่องให้อัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สิน ไปคืนหรือชดใช้คืนให้กับผู้เสียหาย 9 คดี ทรัพย์สิน 222 รายการ มูลค่า 78 ล้านบาท คดีที่สำคัญ เช่น คดีนายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา กับพวก ซึ่งเป็นคดีความผิดมูลฐานปลอมเอกสารสิทธิ และฉ้อโกง โดยทุจริตกรอกข้อความและยอดเงินในใบถอนที่มีลายมือชื่อผู้มีอำนาจไปยังบัญชีเงินฝากของตนเอง จึงเป็นเหตุให้วัดบวรนิเวศวิหารฯ ได้รับความเสียหาย โดยคณะกรรมการธุรกรรมเห็นชอบให้นำเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืน หรือชดใช้คืน ให้กับผู้เสียหายโดยดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน3 รายการมูลค่ากว่า 1 ล้าน และดำเนินการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายจำนวน 3 ราย โดยคดีนี้ ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์สินมาแล้ว 3 ครั้งจำนวน 354 รายการ มูลค่าประมาณ 130 ล้านบาท



          และผลดำเนินการภาพรวมในรอบปีที่ผ่านมา ปปง. ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 9,400 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นความผิดมูลฐาน ฉัอโกงประชาชน พนันออนไลน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยาเสพติด โดยมีรายคดีสำคัญ เช่น คดีโกงหุ้นมอร์ รีเทิร์น จำกัด ยึด/อายัด 4,500 ล้านบาท คดีฉ้อโกงประชาชน ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก(ยึด/อายัด 18 ล้านบาท คดีอั้มPSV ยึด/อายัด426 ล้านบาท คดีสร้างโรงแรมบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา- เกาะหลีเป๊ะ ยึด/อายัด ทรัพย์ 130 ล้านบาท คดีสำคัญอื่นๆ อีกหลายคดี โดยสามารถนำทรัพย์สิน ที่ศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดินส่งกระทรวงการคลังรวมมูลค่า 8,800 ล้านบาท



          ในส่วนการแสดงตนการฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ(CDM) เพื่อยกระดับความปลอดภัย  สถาบันการเงินจะต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนก่อนการทำธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยการทำธุรกรรมเงินสด ต้องสามารถตรวจสอบได้ทั้งต้นทางและปลายทาง   สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ



          1. ฝากเงินใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักหมายเลขโทรศัพท์มือถือและรหัส OTP ที่ได้รับโดยมีวงเงินสูงสุด 30,000บาท ต่อครั้ง



          2. ผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ร่วมกับรหัสส่วนตัว โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 100,000 บาทต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)



          โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ วันที่11 พฤศจิกายน 2566



 



 



 



 



#สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแถลง



 

ข่าวทั้งหมด

X