ดร.ธรณ์เตือน 'บุ้งทะเล' ขึ้นฝั่งทะเลตะวันตก ไม่มีพิษแต่คัน สะท้อนทะเลแปรปรวน

11 ตุลาคม 2566, 15:19น.


           สถานการณ์ในทะเลอ่าวไทย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat พบว่า ช่วงนี้ในทะเลอ่าวไทยมีอะไรแปลกๆ หลายอย่าง เช่น ตัวยึกยือที่เห็นในภาพ เป็นสัตว์ที่เรียกว่า “บุ้งทะเล” คันมาก เพื่อนธรณ์เจอแล้วอย่าไปจับนะครับ ผมเคยโดนมาแล้ว แสบคันเหมือนโดนหนอนบุ้งผีเสื้อเลยครับ



          ตอนนี้มีรายงานบุ้งทะเลขึ้นมาตามชายฝั่ง ตามเกาะในอ่าวไทยฝั่งตะวันตก บุ้งทะเลเป็นหนอนปล้อง พวกเดียวกับแม่เพรียงและไส้เดือนทะเล  บุ้งทะเลอยู่ในทะเลตลอดเวลา การเข้ามาเกยชายฝั่งเกิดเพราะกระแสน้ำหรือคลื่นลม  จุดสำคัญ คือขนละเอียดมากเหมือนบุ้ง ไม่แนะนำให้จับ หยิบ โดน หรือไปเล่น โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ต้อง เตือนคุณลูกหากลอยมาติดหาดเยอะๆ บุ้งทะเลอยู่ในน้ำ ว่ายน้ำเก่ง อาจโดนเราได้ หากเห็นต้องระวัง อย่าไปโดน หากมีเยอะไปก็หลีกเลี่ยงการลงน้ำ หากโดนเข้าไป จะแสบคันเหมือนโดยขนบุ้ง อย่าเกาอย่า ถู ต้องพยายามเอาขนออก แต่มันทำยากมากครับ



          สมัยก่อนใช้เทียนไขคลึงเบาๆ หรือใช้ขี้ผึ้ง ปัจจุบันจะแก้ยังไงก็ตามถนัด หลักการคือเอาขนออก จากผิวหนังเรา จากนั้นก็ทาครีมแก้คัน



          บุ้งทะเลไม่มีพิษ คันเพราะขน ไม่ต้องแก้พิษเหมือนแมงกะพรุน น้ำส้มสายชูหรือใดๆ ไม่มี ประโยชน์ ปรกติในทะเลกระจายกันอยู่ ไม่ได้มาทีเยอะๆ แต่บางช่วงเวลาอาจเจอเยอะหน่อย เช่น ช่วง ผสมพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้เยอะปานนี้



         ผลกระทบต่างๆ ที่เราทำต่อทะเล อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น แพลงก์ตอนบลูมที่เกิดบ่อยขึ้น อาจทำให้ลูกสัตว์บางชนิดช่วงที่เป็นแพลงก์ตอนวัยอ่อน รอดมากขึ้นเนื่องจากมีแพลงก์ตอนพืชให้กินเยอะ ย้ำว่านั่นเป็นสมมติฐาน เรายังต้องทำความเข้าใจอะไรอีกเยอะ เพราะทะเลยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน ธาตุ อาหาร มลพิษ และโลกร้อน ทำให้เกิดอะไรแปลกๆ  ตอนนี้เอาเป็นว่า เตือนเพื่อนธรณ์ไว้ หากเจอจะได้ระวัง หากเยอะจัดก็อย่าลงน้ำ หากโดนก็แก้ตามที่บอกไว้ เป็นทะเลที่เริ่มเดาทางไม่ได้ ผลที่เราก่อเริ่ม ย้อนกลับมาหาเราในรูปแบบต่างๆ แล้วครับ



#บุ้งทะเลขึ้นฝั่ง 



CR:สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย



 

ข่าวทั้งหมด

X