นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันว่ารัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท (Digital Wallet) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับร้อยละ 5 ในช่วง 3-4 ปีต่อจากนี้ โดยในวันที่ 12 ต.ค.นี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จะนัดประชุมครั้งแรก เพื่อหารือถึงความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ โครงการ และมอบหมายคณะอนุกรรมการ ไปหารือประเด็นต่าง ๆ จากนั้น วันที่ 19 ต.ค. จะประชุมคณะอนุกรรมการฯ เป็นครั้งที่ 2 หารือข้อสรุปทั้งหมดก่อนเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา และวันที่ 24 ต.ค. จะเสนอเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ ส่วนจะมีข้อเสนอหรือสั่งการอย่างไร ต้องขึ้นกับการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป
สำหรับเงื่อนไขที่กำหนดรัศมีที่ใช้ใน 4 กิโลเมตร เบื้องต้นยืนยันว่ามีความโน้มเอียงที่จะขยายกรอบระยะทางในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกสำหรับประชาชน โดยจะมีข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้
ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเม็ดเงิน ต้องใช้เวลาในการพิจารณา โดยจะมีมากกว่า 1 ทางเลือกให้กระทรวงการคลังพิจารณา แต่จะเลือกใช้กลไกที่เหมาะสมที่สุด หรืออาจจะผสมผสานกัน แต่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลทำทุกอย่างในกรอบกฎหมาย เราไม่ทะลุกรอบของกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างแน่นอน โดยมาตรการนี้จะใช้แหล่งงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรายละเอียดขอให้รอสิ้นเดือน ต.ค. นี้
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะทำทุกเรื่องเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในระดับที่เหมาะสมที่ 5% ซึ่งไม่ได้มีแค่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงมาตรการเดียว ส่วนกระแสข่าวเรื่องแหล่งเงินจากธนาคารออมสินนั้น ยังไม่มีข้อสรุป และขอยืนยันอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ส่วนจะใช้แหล่งเงินจากมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่เชื่อว่าจะมีหลายทางเลือกแน่นอน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เรียกร้อง อยากให้เชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลังในการรักษาวินัยการเงินการคลัง ไม่ว่าแหล่งเงินจะมาจากไหน ใช้จ่ายอย่างไร ใช้คืนอย่างไร ทั้งหมดจะชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการ โดยจะต้องมีการพูดคุยกับ ธปท.ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานอย่างใกล้ชิดกันอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจความตั้งใจของรัฐบาลว่าไม่ได้ละเลยเรื่องเสถียรภาพ แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ดังนั้นนโยบายการคลังที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินที่เน้นเรื่องเสถียรภาพ จะต้องไปด้วยกัน
#แจกเงินดิจิทัล