วันนี้ (7 ต.ค.66) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือ จิสด้า มีกำหนดจะส่งดาวเทียมสำรวจโลกธีออส 2 (THEOS-2) ขึ้นสู่วงโคจร ด้วยจรวดนำส่งในเวลา 08.36 น.ตามเวลาประเทศไทย จากท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ เพื่อปฏิบัติภารกิจบันทึกภาพพื้นผิวโลกทั้งในประเทศไทย และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับใช้ปรับปรุงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียด ซึ่งจะจะช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการเกษตร บริหารจัดการน้ำ จัดการภัยธรรมชาติ จัดการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง ใช้ในการการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูกพืช การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และคาดการณ์ผลผลิต ติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ การคำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน หรือใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพ และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งหากเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์กับการฟื้นฟูความเสียหาย เป็นต้น
แต่ปรากฎว่า ก่อนการปล่อยเพียง 14 วินาที มีการแจ้งเตือนเรดสเตตัส จึงเลื่อนการนำส่งดาวเทียม ธีออส2 ต่อไป โดยทางจิสด้าแจ้งว่า กรณีเลื่อนการนำส่งดาวเทียม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ความปลอดภัยต้องมาก่อน และขอให้รอติดตามความคืบหน้าจากทาง Airbus และ GISTDA จะประกาศกำหนดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ให้ทราบต่อไป
สำหรับจุดเริ่มต้นของ THEOS-2 มาจากโครงการ THEOS ที่เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ดำเนินการในปี 2547 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ร่วมกับ บริษัท อีเอดีเอส แอสเตรียม (EADS Astrium) จากฝรั่งเศส
ชื่อ THEOS มาจากตัวย่อของ “Thailand Earth Observation Satellite” หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย พ้องกับภาษากรีกที่แปลว่า “พระเจ้า” โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาในปี 2547 ก่อนที่จะปล่อยดาวเทียม “THEOS-1” ซึ่งถือได้ว่าเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยฝีมือคนไทย ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 มีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และสถานีควบคุมดาวเทียม อยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ในปี 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ในขณะนั้น) ส่งหนังสือไปยัง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อใหม่ให้ดาวเทียม THEOS ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมดังกล่าวว่า “ไทยโชต” และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thaichote ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2554 สืบไป โดยมีความหมายว่า “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง”
ปี 2561 THEOS-1 เริ่มหมดอายุการใช้งาน ทำให้ทาง GISTDA ต้องเริ่มจัดหาดาวเทียมทดแทน โดย THEOS-2 เป็นการจัดหาดาวเทียม 2 ดวง คือ ดวงหลักที่เป็นดวงใหญ่ ผลิตที่บริษัทแอร์บัส เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส เป็นดาวเทียมรายละเอียดสูง 2.5 เมตรต่อพิกเซล มี 2 ชนิดภาพ ได้แก่ ภาพขาวดำ (Panchromatic) 50 เซนติเมตร และภาพสี (Multi-Spectral) 2 เมตร โดยจะถ่ายภาพรายวันซ้ำที่เดิมทุก ๆ 26 วัน
และดาวเทียมดวงเล็ก THEOS-2 SmallSAT เป็นดาวเทียมที่มีรายละเอียดเล็กลงมาประมาณ 100 กิโลเมตรต่อพิกเซล ผลิตที่สถาบันเทคโนโลยีเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ เป็นดาวเทียมที่มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย อาทิ โหมดบันทึกภาพ Video 3 รูปแบบ โหมดชี้เป้าเฉพาะพื้นที่ที่สนใจ ปรับองศาดาวเทียมเพื่อทำข้อมูลประเภท 3 มิติ และโหมดติดตามพิกัดของเรือและเครื่องบินสำหรับ AIS และ ADS-B ทำให้สามารถติดตามได้อย่างแม่นยำ
THEOS-2 ทั้งสองดวง มีภารกิจหลักคือ การติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ และหน้าที่ด้านการจัดการภารกิจเชิงพื้นที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำแผนที่ การจัดการเกษตรและอาหาร การจัดการน้ำแบบองค์รวม การจัดการภัยพิบัติ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยและมั่นคงของชาติ
#ดาวเทียมTHEOS-2
CR ภาพจาก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)