3 นักวิทย์ที่ค้นพบเทคโนโลยีควอนตัมดอต คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี

04 ตุลาคม 2566, 19:05น.


         ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ยอห์น อัควิส (Johan Aqvist) ประธานคณะกรรมการโนเบลสาขาเคมีของสวีเดนแถลงข่าวในกรุงสต็อกโฮล์มในวันนี้ว่า คณะกรรมการมีมติให้มอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปีนี้ให้แก่ 3 นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมดอต (quantum dots) หรือสารเรืองแสงที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากๆ ซึ่งใช้กับหลอดไฟ LED และจอโทรทัศน์ และเป็นเทคโนโลยีที่ศัลยแพทย์ใช้ในการตัดเนื้อเยื่อมะเร็งให้กับคนไข้



        ทั้งสามคนได้แก่ ศ.โมนกิ จี.บาเวนดี ชาวฝรั่งเศสวัย 62 ปี อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์,ศ.หลุยส์ อี บรูส ชาวอเมริกันวัย 79 ปี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และศ.อเล็กเซย์ ไอ เอคิมอฟ ชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซียวัย 77 ปี ทำงานกับบริษัทนาโนคริสตัลส์ เทคโนโลยี อิงค์ของสหรัฐฯ



        นายอัควิส กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น ไม่เคยมีใครคิดว่าจะมีคนผลิตสารเรืองแสงที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากๆเช่นนั้น แต่นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คนที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปีนี้ทำการวิจัยเรื่องนี้สำเร็จ อีกทั้งบุกเบิกการสำรวจโลกของอนุภาคที่มีขนาดเล็ก สำรวจสสารขนาดเล็กหนึ่งในล้าน ซึ่งสสารเล็กขนาดนี้ จะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ผลจากควอนตัม (quantum effects)



        ทั้งนี้ ควอนตัมดอต ประกอบด้วยอะตอมหลายพันตัว ในแง่ของขนาด ควอนตัมดอตหนึ่งตัวมีขนาดเท่ากับลูกฟุตบอลหนึ่งลูก เมื่อแสงส่องผ่านควอนตัมดอต จะมีลักษณะเรืองแสง ซึ่งสามารถจะปรับแสงให้สวยงามและกำหนดขนาดของจุดเรืองแสงได้ เช่น ปรับจุดเรืองแสงให้มีขนาดใหญ่ แสงจะมีสีแดงสุกใส แต่ถ้าเราปรับจุดเรืองแสงให้เล็กที่สุด แสงจะมีลักษณะสีเขียวหรือสีน้ำเงินสุกใส



        นอกจากนี้ เทคโนโลยีควอนตัมดอตถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการแพทย์เช่น การตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งศัลยแพทย์นำมาใช้เพื่อส่องสว่างโมเลกุลต่างๆซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถตัดเนื้องอกของมะเร็งจากคนไข้ ทั้งช่วยให้แพทย์แยกแยะเนื้อเยื่อดีออกจากเนื้อเยื้อที่ตายแล้ว



#รางวัลโนเบลสาขาเคมี

ข่าวทั้งหมด

X