หลังจากในช่วงนี้พบเหตุนักปั่นจักรยานประสบอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์จนก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง วันนี้จึงได้พูดคุยถึงแนวคิดการปั่นจักรยานอย่างปลอดภัยและข้อเสนอแนะต่างๆของชมรมนักปั่นจักรยานไทย โดยนายมงคล วิจะระณะ นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย เล่าให้ฟังว่า สมาคมของตัวเองเป็นชมรมสำหรับนักปั่นจักรยาน ช่วงแรกมีนักปั่นแค่ไม่กี่คน แต่ช่วงปีหลังๆมานี้พบว่าประชาชนให้ความสนใจและเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยมีอัตราการเติบโตของสมาชิกก้าวกระโดดจนขณะนี้มีสมาชิกกว่า 1พันกว่าคน ซึ่งสมาคมเองก็มีจุดประสงค์ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานเพื่อลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯและการรักษาสุขภาพ โดยชมรมมีการจัดกิจกรรมร่วมกันในทุกจังหวัด และมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน ซี่งก็จะมีการให้ความรู้กับสมาชิกถึงความปลอดภัยในการขี่จักรยานบนถนน ปัจจุบันยอมรับว่ายังรู้สึกไม่ปลอดภัยมาก เพราะรถยนต์มักบีบแตรไล่และขับเข้าไหล่ทางด้านซ้ายซึ่งเป็นที่ปั่นของจักรยาน โดยการขี่จักรยานที่ปลอดภัยจะต้องสวมหมวกกันน็อค ขับชิดเลนไหล่ทางซ้ายสุดและมีกระจกมองข้าง ส่วนหากจะขี่ในเวลากลางคืนควรสวมเสื้อที่มีสีสะท้อนสังเกตได้ง่าย เปิดไฟกระพริบและขับไหล่ทางชิดซ้ายสุดทุกครั้ง ซี่งสมาชิกทุกคนก็รู้ถึงการปฎิบัตินี้ดีและทุกคนก็ปั่นจักรยานอย่างเซฟชีวิตอยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่ามีนักปั่นบางรายที่ยังฝ่าฝืนโดยการปั่นเข้าเลนขวาและเลนกลางถนน อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงนี้ ตัวเองก็มองว่าเกิดจากปัญหาของการไม่มีน้ำใจและความประมาทของผู้ขับรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้ให้ปลอดภัยควรมีการรณรงค์อย่างจริงจังจากภาครัฐ โดยการประกาศวาระให้กรุงเทพฯเป็นเมืองจักรยาน การสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน และการสร้างน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน โดยในส่วนตัวเองในฐานะนักปั่นจักรยานยังมองว่าหากจะให้ปลอดภัยจริงควรมีมาตรการอีกสามถึงสี่ด้านประกอบด้วยการขยายไหล่ทางเลนด้านซ้ายสุดออกอีก30 เซนติเมตรและกั้นเป็นที่เฉพาะรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์ การปรับปรุงช่องจราจรด้านซ้ายให้มีผิวราบเรียบและมีที่กั้นเป็นเลนต่างหากจากรถยนต์ ไม่มีท่อระบายน้ำหรือสิ่งกีดขวางจอดทิ้งไว้เช่น รถยนต์ หรือร้านค้าที่ยังมีจอดตั้งไว้ในเลนซ้าย รวมทั้งควรปรับปรุงทางเท้าให้สะอาดและมีผิวราบเรียบ การออกกฎหมายคุ้มครองและสนับสนุนการปั่นจักรยาน รวมทั้งสร้างสวนสาธารณะเพิ่มเติมเพื่อให้นักปั่นที่ยังไม่ชินกับถนนได้ฝึกปั่นในบริเวณดังกล่าวก่อน
นายมงคล เล่าว่า เลนปั่นจักรยานปัจจุบันที่มีอยู่แค่บางส่วนของกรุงเทพฯนั้นไม่เพียงพอ ควรทำให้ทุกถนนและทุกซอยมีเลนสำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ และพัฒนาเชื่อมต่อไปยังต่างจังหวัดได้ ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะเกิดภายในปีนี้ แต่ควรมีผลเป็นรูปธรรมใน 10 ปีซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯมีสิทธิเป็นเสมือนอัมสเตอร์ดัมได้ และรัฐบาลพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงระบบผังเมืองกรุงเทพใหม่หมด เพราะปัจจุบันกรุงเทพฯมีผังเมืองไม่เหมาะสมกับการปั่นจักรยานและมีผังเมืองคล้ายกับประเทศโคลัมเบียที่มีปัญหาการจราจรติดขัด มีชุมชนแออัด ซึ่งเป็นปัญหาต่อการปั่นจักรยาน ส่วนในต่างจังหวัดนั้นเชื่อว่าการทำเลนจักรยานง่ายกว่าการทำเลนจักรยานในกรุงเทพฯ เพราะถนนต่างจังหวัดมีไหล่ทางกว้างกว่า ผังเมืองเหมาะแก่การปั่นและปัญหาการจราจรน้อยกว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากลัวคือการขับรถเร็วในต่างจังหวัด ซึ่งต้องมีมาตรการทางกฎหมายไม่ให้รถยนต์ขับเข้าไหล่ทาง และส่วนตัวมองว่าหากปรับภูมิศาสตร์ให้เหมาะสมก็สามารถปั่นจักรยานในต่างจังหวัดได้แน่นอน นายมงคล เชื่อว่า จะมีข่าวการเสียชีวิตของนักปั่นจักรยานเกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะถนนไทยยังไม่มีมาตรฐานสากลและรัฐบาลก็ไม่เคยมีนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจังในการคุ้มครองนักปั่นจักรยาน จนกระทั่งปัจจุบันนี้สมาคมได้รับทำประกันอุบัติเหตุให้กับนักปั่นจักรยานทุกคนและยังมีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักปั่นจักรยานที่ประสบอุบัติเหตุแล้วด้วย
ธีรวัฒน์
CR:แฟ้มภาพ