ที่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก กรุงริยาด ราชอาณาจักร ซาอุดิอาระเบีย ครั้งที่ 45 ได้ประกาศขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลก สร้างความชื่นชมยินดีของคนไทยทั้งประเทศ การเสนอชื่อครั้งนี้ เริ่มดำเนินการตั้งปี 2564 ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี
โดยระหว่างที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งใหม่ บรรยากาศที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งมีการจัดแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าว
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส.ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้ขับเคลื่อนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเป็นมรดกโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย และได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยเมืองโบราณศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากโดยเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ ต่อจากพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า หวังว่าการขับเคลื่อนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เป็นแหล่งมรดกโลก จะกระตุ้นให้เกิดการหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นทุนที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
ขณะที่ นายเสริมศักดิ์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพิ่มเป็น 4 แหล่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี และล่าสุด เมืองโบราณศรีเทพ
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์ และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทั้งการอนุรักษ์ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม บริหารจัดการการท่องเที่ยว ทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านอนุรักษ์ ส่วนในปีหน้า 2567 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของยูเนสโก เพื่อประกาศเข้าสู่บัญชีมรดกโลก
สำหรับ เมืองโบราณศรีเทพและแหล่งต่อเนื่อง ถูกนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือ ทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นตัวแทนของเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีจากหลักฐานที่ค้นพบ การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนพัฒนาตนเองด้วยการติดต่อกับสังคมภายนอก และรับวัฒนธรรมทางศาสนา จากอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 11 และเรียนรู้การขุดคูน้ำคันดิน ทำเป็นคูเมือง กำแพงเมือง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
พบหลักฐานสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดั้งเดิมในวัฒนธรรมทวารวดีกับวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 การรับศาสนาพราหมณ์และพุทธทั้งแบบเถรวาทและมหายาน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 คือการเข้ามามีอิทธิพลอย่างถาวรของพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาพราหมณ์พบหลักฐาน เช่น รูปเคารพ พระพุทธรูป พระนารายณ์และศาสนสถาน มีอัตลักษณ์ของตนเองตั้งแต่ลักษณะการวางเมืองที่มีลักษณะเป็นเมืองแฝดหรือเมืองขยาย คือ “เมืองใน” และ “เมืองนอก” พบหลักฐานงานศิลปกรรมใน “สกุลช่างศรีเทพ” ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวได้รับการยกย่องจากนักวิชาการเรื่องเทคนิคงานช่างเมืองศรีเทพที่กล้าสร้างประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่บนที่ราบห่างจากแม่น้ำป่าสัก ไปทางทิศตะวันออกราว 4 กิโลเมตร ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ พื้นที่ราว 4.7 ตารางกิโลเมตร (ราว 2,900 ไร่) ประกอบด้วยชุมชนโบราณในลักษณะเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ และกลุ่มโบราณสถานสำคัญที่มีความโดดเด่นทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สามารถติดต่อกับภูมิภาคอื่นๆได้สะดวก และความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันถึง 3 ยุค ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย ยุคทวารวดี จนถึงยุคขอมเรืองอำนาจ
เอกลักษณ์และความสำคัญของเมืองศรีเทพ จึงมีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ทวารวดี หรือเมืองศรีเทพนั้น คือ ทวารวดี ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่เชื่อกันมา
เมืองเก่าศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมื่อเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2447–2448 และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" ตามชื่อเมืองที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สำรวจพบว่าเมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้
ด้านGISDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) ได้เผยแพร่ภาพจากดาวเทียมร่วมยินดีอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
#เมืองโบราณ
#มรดกโลก
ติดตามการประกาศมรดกโลก: https://www.facebook.com/onep.gov.th/videos/1446832142829549