'อ.ธรณ์' เร่งสำรวจแนวปะการัง เป็นข้อมูลรับมือ'เอลนีโญ'แรงสุด ยาวถึง มี.ค.67

19 กันยายน 2566, 11:19น.


            ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โพสต์ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat  อัปเดตเรื่องเอลนีโญ โดยระบุว่า



           “ข้อมูลล่าสุดจาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) บอกว่า เอลนีโญแรงสุดนับแต่นี้ไปจนถึงสิ้นปี จากนั้นจะเริ่มลดลง แต่ลดลงหมายถึงยังไม่จบ ลากยาวไปเดือนมีนาคมเกือบจะแน่นอน และอาจจะนานกว่านั้น เรากำลังเข้าสู่ปลายฝนทางเหนือ/อีสาน หลังจากนี้คงต้องรออีกนานกว่าจะมีฝนมาใหม่ อีกเดี๋ยวจะเป็นช่วงฝนภาคใต้ แต่ปีนี้ค่อนข้างแปรปรวน มีความเป็นไปได้ที่ฝนจะน้อยกว่าปกติ



           คราวนี้มาดูทะเล แผนที่จาก NOAA แสดงการทำนายอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลในเดือนต่างๆ ไปถึงมีนาคม/ต่อเนื่อง ทะเลอ่าวไทยจะร้อนผิดปกติแบบแรงหน่อยช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ แต่เผอิญเป็นหน้าหนาว น่าจะพอไหวอยู่ ที่ห่วงคือมีนาคม/เมษายน/พฤษภาคม เป็นช่วงน้ำร้อนพีคของทะเลไทยตามฤดูกาล เมื่อมีเอลนีโญที่ยังไม่จบทับซ้อนลงไป จะเป็นอย่างไรบ้าง



         สิ้นปีนี้ผมจะขยายผลเร่งสำรวจแนวปะการังต่างๆ และข้อมูลสมุทรศาสตร์ไว้เท่าที่ทำได้ นอกเหนือไปจากพื้นที่เดิมๆ ที่ทำไว้ก่อนหน้านั้น



          หากเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่จริง ข้อมูลพวกนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเพื่อนธรณ์ที่ดำน้ำไปตามจุดต่างๆ ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน หากอยากช่วย ลองถ่ายภาพปะการังในมุมที่จำได้ไว้ เผื่อเกิดอะไรในปีหน้า เราจะได้มีข้อมูล before & after เรื่องพวกนี้จะมีความสำคัญมากต่อการรับมือและดูแลระบบนิเวศในยุคโลกร้อนครับ”



 





#เอลนีโญ



CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ Thon Thamrongnawasawat 

ข่าวทั้งหมด

X