ไม่ต้องจ่ายค่าโง่! ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการ 'คดีโฮปเวลล์'

18 กันยายน 2566, 15:55น.


          ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 65 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่าบริษัท โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด



          ศาลปกครองกลางเห็นว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้ทำสัญญาลงวันที่ 9 พ.ย.33 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. มีกำหนดเวลา 30 ปี ซึ่งสัญญามีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญาแล้ว กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เห็นว่าการก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค.41 บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์



          โฮปเวลล์ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.41 ซึ่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมายเมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องทำภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุ แห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น



          แต่ โฮปเวลล์ ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามเวลาที่กำหนด คือ ภายในวันที่ 30 ม.ค.42 การที่ โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) นำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ในวันที่ 24 พ.ย.47 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาหนึ่งปี



          อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทนั้น ได้มีการตรา พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.51 โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 51 เดิม และบัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี ซึ่งมีผลใช้บังคับกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้น โฮปเวลล์จะต้องยื่นอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.46 แต่โฮปเวลล์ฯ กลับยื่นในวันที่พ้นระยะเวลา 5 ปีไปแล้ว สิทธิเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงขาดอายุความตามกฎหมายเนื่องจากยื่นคำร้องหลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ 



          สำหรับคดีนี้ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2565 จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ที่ขอให้นำคดีนี้มารื้อฟื้นใหม่ไว้พิจารณา



          ล่าสุด นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์แจ้งข่าวผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ยินดีกับคนไทย เราชนะคดีโฮปเวลล์ครับ



          ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้บังคับคดี ให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชนะคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ภาครัฐจ่าย รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่คดีถึงที่สุด



                





#ยกคำร้อง



#โฮปเวลล์ 

ข่าวทั้งหมด

X