*จนท.ขึ้นเขาแก้วอีกรอบหลังพบหลุมฝังศพเพิ่ม สหรัฐอ้างมีข้อมูลจนท.ไทยเอี่ยวค้ามนุษย์*

05 พฤษภาคม 2558, 13:44น.


การพบหลุมศพชาวโรฮิงญาที่จังหวัดสงขลา วันนี้เจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจพิสูจน์บนเทือกเขาแก้วอีกรอบ หลังพบหลุมฝังศพเพิ่มอีก 3 – 4 หลุม ใกล้กับแคมป์ที่พบจุดแรก ขณะเดียวกันกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 7 จุด ในพื้นที่ตำบลปาดัง – เบซาร์ เพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องหาอีก 4 คน ที่ยังคงหลบหนี จากการออกหมายจับ 8 คน แต่ยังไม่พบตัว เจ้าหน้าที่ได้เก็บหลักฐานไว้บางส่วน



พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ล่าสุด นายยาลี เขล็ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านตะโล๊ะ ตำบลปะดังเบซาร์ เข้ามอบตัวกับตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนที่ 5 



โดยเหลือผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีก 3 คน คือ นายประสิทธิ์ เหลมเล๊ะ รองนายกเทศบาลตำบลปะดังเบซาร์ นายพรรคพล เบ็ญล่าเต๊ะ และ นายเจริญ ทองแดง ซึ่งตำรวจจะรีบติดตามตัวมาดำเนินคดี โดยการข่าวยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ทั้งหมดเดินทางออกนอกประเทศไปแล้วหรือไม่



ด้านการสืบสวนสอบขยายผลเจ้าหน้าที่ทราบผู้ร่วมขบวนการเครือข่ายค้ามนุษย์กลุ่มนี้เกือบทั้งหมดแล้ว หลังจากได้สอบปากคำผู้บาดเจ็บและชาวโรฮิงญา ที่หนีมาจากที่พักชั่วคราวในพื้นที่ใกล้เคียง รวม 5 คน ในจำนวนนี้ 3 คน พบในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ และรายล่าสุดเป็นเด็กชายวัย 14 ปี ที่มาขออาศัยบ้านของชาวบ้าน เมื่อวานนี้โดยบอกว่าหลบหนีมาจากที่พักชั่วคราวบนเทือกเขาแก้วในพื้นที่บ้านหน้าถ้ำ ซึ่งในที่พักดังกล่าวมีชาวโรฮิงญาอยู่ร่วมกันมากว่า 1 เดือน จำนวน 35 คน ส่วนอีก 2 คน พบอยู่ในอำเภอรัตภูมิ เจ้าหน้าที่ได้ให้การช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนส่วนที่จังหวัดพังงา ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอตะกั่วป่า และตำรวจท้องที่เข้าตรวจสอบหลุมศพ จำนวน 4 หลุม บริเวณเกาะโต๊ะกระ หมู่ 5 ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าอาจเป็นศพชาวโรฮิงญา เร่งขุดนำมาตรวจพิสูจน์.



ก่อนหน้านี้ นายเจฟฟรีย์ ราธเค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แต่ขอให้รัฐบาลไทยเร่งกระบวนการสืบสวนสอบสวนมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างโปร่งใส รวมถึงมีความน่าเชื่อถือ  พร้อมยอมรับว่า มีข้อมูลเรื่องเจ้าหน้าที่ของทางการไทยบางคนมีส่วนรู้เห็นกับกระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลสหรัฐบันทึกข้อมูลเอาไว้นานแล้วเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลสหรัฐจัดอันดับเกณฑ์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของทางการไทยอยู่ที่ระดับ "เทียร์ 3" ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ส่วนผลการจัดอันดับประจำปีนี้จะได้รับการเผยแพร่ในเดือนมิ.ย.นี้

ข่าวทั้งหมด

X