หลังจากที่ได้เข้าพูดคุยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นายกฯ ก็รับฟังข้อกังวลของ ธปท. ต่อการทำนโยบายแล้ว เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนที่เคยพูดมาว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว แต่อาจจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่ยังคงเห็นการฟื้นตัวอยู่
ขณะเดียวกัน โจทย์ฝั่งนโยบายที่มองว่าสำคัญจะเป็นเรื่องที่ทำให้นโยบายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งทั่วโลกอยากเห็นนโยบายทั้งฝั่งการเงิน และฝั่งการคลังกลับเข้าสู่สภาวะใกล้เคียงกับช่วงปกติ อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางด้านการเงิน เสถียรภาพด้านการคลัง และเสถียรภาพด้านราคา เป็นเหตุผลที่ทำให้ ธปท.ดำเนินนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เราเห็นตัวอย่างประเทศสหรัฐ ยังโดนเครดิตเรตติ้งลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเพราะว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ใจมากพอในเรื่องเสถียรภาพทางการคลัง ดังนั้น เสถียรภาพการคลังเป็นโจทย์สำคัญ
สำหรับนโยบายพักหนี้จะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและการคลังหรือไม่นั้น เรื่องพักหนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะดำเนินการ ซึ่ง ธปท.มองว่าเรื่องพักหนี้ ก็ควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่อยู่ในกล่องเครื่องมือ แต่ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งการที่จะพักหนี้ในวงกว้างจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะการพักหนี้ ควรทำเพียงบางจังหวะที่จำเป็นและเหมาะแก่การทำมาตรการชั่วคราว เช่น ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด ได้ทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และดำเนินการในวงกว้างเพราะทุกคนได้รับผลกระทบ และหลังจากที่ดำเนินมาตรการพักหนี้ไปแล้ว ก็พยายามถอย เพราะไม่อยากทำเยอะและทำนาน เพราะถ้าทำนานมันไม่ดี
และ ธปท.เห็นว่าลูกหนี้แต่ละคนไม่เหมือนกัน หากดูตัวอย่างหนี้เกษตรกร ที่มีบางกลุ่มที่มีศักยภาพต้องหาวิธีการให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้ได้ และมีแรงจูงใจต่อการชำระหนี้ต่อ ซึ่งไม่ควรเข้าไปพักหนี้เกษตร แต่จะมีบางกลุ่มที่เจอผลกระทบชั่วคราวจึงเหมาะแก่การเข้ามาตรการพักหนี้
“ดังนั้น ถ้าจะพักหนี้ให้ทุกคนยังมองว่าไม่เหมาะสม ซึ่งในการพักหนี้จะเหมาะกับลูกหนี้ที่ในความเป็นจริงมีศักยภาพ แต่เจอวิกฤตที่เกิดชั่วคราวทำให้เกิดปัญหา ซึ่งถ้าได้พักหนี้และกลับมาได้ จึงเหมาะแก่การเข้ามาตรการพักหนี้ โดยเรื่องนี้ก็ได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น และข้อกังวลต่อรัฐบาลแล้ว ว่าการทำวงกว้างอาจมีผลข้างเคียงสูง ซึ่งรัฐบาลก็รับฟัง แต่มาตรการจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นผู้กำหนด
สำหรับมาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หากต้องดำเนินการจะต้องแก้ไขกฎหมายของ ธปท. หรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเป็นเงินได้ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของมาตรการที่จะออกมา ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่ามาตรการจะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตาม แต่ในส่วนของข้อกังวลของ ธปท. ที่ได้มีการหารือกับรัฐบาลแล้ว อีกทั้งในเรื่องของนโยบาย ทำในรูปแบบที่เฉพาะกลุ่มน่าจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงิน 1 หมื่นบาท หากทำมาตรการต่างๆ แล้วภาพรวมรายจ่าย หนี้ และการขาดดุลด้านต่างๆ จะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เรื่องวินัยการคลังยังเป็นข้อควรกังวล แต่ถ้ามีมาตรการลักษณะนี้ แต่ทำแล้วจะบริหารให้ภาพรวมการคลังอยู่ในกรอบต่างๆ เช่น กรอบภาระหนี้ต่องบประมาณ หรือภาระหนี้ต่อจีดีพี เป็นเรื่องสำคัญ
#นโยบายการคลัง