*ไทยเตรียมส่งความช่วยเหลือเนปาลทางเรือ/2สภาสรุปความเห็นร่างรธน./ยูเอ็นเตรียมประเมินผลการต่อต้านทุจริตไทย *

05 พฤษภาคม 2558, 07:39น.


ในวันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเดินวิ่งเทิดพระเกียรติเนื่องในวันฉัตรมงคล “ราชพฤกษ์...แด่ในหลวงด้วยดวงใจ” ณ นอร์ธปาร์คไดร์ฟวิ่งเร้นจ์ สโมสรราชพฤกษ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ


เวลา 19.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภริยา ร่วมงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล


นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการช่วยเหลือคนไทยในเนปาล ว่า มีคนไทยในเนปาลแจ้งว่าต้องการส่งบุตรกลับประเทศไทย 3 คน โดยจะมากับเครื่องบิน ซี-130 ที่ไปส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์



ขณะที่การให้ความช่วยเหลือในส่วนของไทย ประกอบด้วย หน่วยชุดบัญชาการกองทัพไทย ให้การรักษาผู้ประสบภัยที่เมืองโตกา ซึ่งห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กม. และมีหน่วยแพทย์ทหารไปตั้งศูนย์ที่สินธุปาลโจกและสินธุโกต ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ ประมาณ 40 กม. กับมีทีมแพทย์เดินเท้าที่ออกปฏิบัติงานในหมู่บ้านชุมชนบนเขา 10 หมู่บ้าน



พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน - 3 พฤษภาคม มียอดเงินบริจาคผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่อบัญชี “หัวใจไทย ส่งไปเนปาล” ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล รวม 111,887,641.25 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กำลังบริหารจัดการลำเลียงสิ่งของบริจาคทั้งหมดโดยเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กองทัพเรือศึกษาเส้นทางและท่าเรือ สำหรับลำเลียงสิ่งของเข้าสู่เขตพื้นที่ภัยพิบัติโดยเร่งด่วน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมระหว่างศูนย์ประสานงานนายกฯ ทำเนียบรัฐบาล และสถานทูตไทยในเนปาลเป็นครั้งที่ 2 เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด



ความคืบหน้าของการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้รัฐมนตรีแต่ละคนกลับไปทำความเห็นแล้วส่งกลับมาที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ภายในวันที่ 14 พฤษภาคมและในวันที่ 19 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.จะประชุมร่วมกัน เพื่อสรุปส่งความเห็นกลับไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ



ส่วนในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ เสนอเรื่องจัดสัมมนาระดมความเห็นของสมาชิก สนช.ทุกคน เพื่อให้ได้ข้อสรุปไปในแนวทางเดียวกัน ก่อนส่งความเห็นไปให้คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป คาดว่าจะจัดสัมมนาระดมความเห็นได้ไม่เกินสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคมนี้ โดยในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะ กมธ.เพื่อวางกรอบการจัดสัมมนาระดมความเห็น



ทั้งนี้ สนช.ส่วนใหญ่จะให้ความเป็นห่วงจะอยู่ในภาค 2 เรื่องการเมือง ทั้งเรื่องที่มา ส.ว.ที่มา ส.ส. ที่มาของนายกรัฐมนตรี และอำนาจหน้าที่ของแต่ละสภา



ส่วน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวว่า สนช.ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่ไม่จำเป็นต้องนำร่างรัฐธรรมนูญปีอื่นมาประกบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้ประชาชนเลือก เพราะรัฐธรรมนูญเดิม ล้วนมีจุดอ่อน



ส่วนสภาปฎิรูปแห่งชาติ นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปช. คาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องคำขอแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญจากสมาชิก สปช. ในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ โดยในช่วงเช้าจะแจกเอกสารแบบฟอร์มคำถาม จากนั้นจะประมวลผล และช่วงเย็นจะขอเวลาที่ประชุม สปช.เพื่อหารือสมาชิก จัดกลุ่มสรุปประเด็น ส่วนจะมีการขอเพิ่มวันอภิปราย หลังจากส่งคำขอแปรญัตติแล้วหรือไม่นั้น จะมีการหารือกันอีกครั้ง



นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งให้ความเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยให้สถานะของประเทศไทยในสากลดีขึ้น โดยประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการถูกประเมินผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 จากผู้แทนของประเทศบาห์เรนและเนปาล ซึ่งจะเดินทางมาประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยในเดือน พฤษภาคมนี้



ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดฐานความผิดในการให้หรือรับสินบนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ รวมไปถึงการไม่ให้มีการนับอายุความหากมีการหลบหนีในคดีทุจริต



ส่วนเรื่องของการบิน ซึ่งองค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุว่าพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) ด้านการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) และการดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบรับรองการขนสินค้าอันตราย (Dangerous Goods) ซึ่งพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการบิน และจะมีการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการบินหลังวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ของกรมการบินพลเรือน ตามที่ทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ต้องการ นอกจากนี้ จะมีการชี้แจงถึงความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งวัตถุอันตราย , การเตรียมความพร้อมในการตรวจใบรับรองผู้ดำเนิน การเดินอากาศ (AOL) รวมถึงการจัดเรียงลำดับสายการบินที่จะเข้าตรวจสอบและช่วงเวลาในการตรวจสอบ เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของการดำเนินงาน



 *-*

ข่าวทั้งหมด

X