*สปช.นัดประชุมวันพุธวาระปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง/อียูชื่นชมไทยแก้ไขปัญหาแรงงานประมง/พิสูจน์ศพโรฮิงญา*

04 พฤษภาคม 2558, 08:27น.


นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีคำสั่งงดประชุม ในวันนี้และวันพรุ่งนี้ เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ และนัดประชุมเป็นพิเศษในวันพุธที่ 6 พฤษภาคมนี้ ที่อาคารรัฐสภา โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน วาระที่ 3 การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น วาระที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ



ด้านความเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า  กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้หารือและพูดคุยกันอย่างเป็นทางการมีเพียงการแสดงความคิดเห็นของแต่ละคน และคิดว่าในการประชุมในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการนำเรื่องการทำประชามติมาหารือร่วมกัน เพราะทางรัฐบาลระบุว่าถ้ากมธ.ยกร่างฯ อยากให้ทำก็เสนอความเห็นไปได้



ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการเปิดโอกาสให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะการอภิปรายช่วงระหว่างวันที่ 20-26 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเพียงการเสนอความเห็นของสมาชิก สปช.แต่ละคนเท่านั้น จึงอยากให้รอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายก่อน และเมื่อคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมาถึงกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ก็จะมีการหารือเพื่อประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญในช่วง 60 วันสุดท้าย ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-23 กรกฎาคมนี้



ส่วนเรื่องการชำระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าว นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 เดือนนี้ สบน.จะสรุปแนวทางการชำระหนี้จากความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนเรื่องที่มาของเงินที่จะนำมาชำระหนี้ และกำหนดเวลาว่าจะใช้หนี้ภายในกี่ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้สะสมในระยะยาว ทั้งไม่กระทบต่องบลงทุนของรัฐบาล



ก่อนหน้านี้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แถลงว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรวม 15 โครงการ มีผลการปิดบัญชี ณ 30 กันยายน 2557 มีผลขาดทุนรวม 6 แสน 9 หมื่น 9 พันล้านบาท



ยังมีเรื่องที่อียูเตือนไทยเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานประมง ซึ่ง ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมประมงได้รายงานว่าในวันที่ 10-22 พฤษภาคมนี้ คณะทำงานของสหภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อดูความคืบหน้าและให้คำแนะนำกรณีการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) จากนั้นในวันที่ 20-22 พฤษภาคม จะมีผู้บริหารมาติดตามความคืบหน้า



ทั้งนี้ในการที่ทูตอียูเข้าพบพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งทูตอียูชื่นชมการแก้ปัญหาของไทย ที่ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีในการแก้ไขปัญหาภาคประมงของไทย สำหรับมาตรการที่ไทยดำเนินการไปแล้วได้แก่ การแก้ไขพ.ร.บ.ประมงใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อีก 2 เดือนต่อจากนี้ และจะมีการออกกฎหมายประกอบและกฎกระทรวงต่อไป ตลอดจนการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือหรือ VMS ในเรือประมงขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปและการตั้งศูนย์แจ้งการเข้าออกของเรือประมง หรือ port in port out ซึ่งนำร่องไปแล้วใน 4 จังหวัด และจะดำเนินการให้ครบ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ 6 พฤษภาคมนี้



นอกจากนี้ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเสนอกรอบเป้าหมายในการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)เร็วๆ นี้ โดยจะนำความเห็นของคณะทำงานอียูมารวบรวมไว้ด้วยเพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา



ขณะที่ในเรื่องของขบวนการค้ามนุษย์ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์ การพบศพชาวโรฮิงญา และมอบให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ในวันนี้เพื่อติดตามความคืบหน้า และคลี่คลายคดี รวมทั้งเร่งระดมทุกหน่วยลงปฏิบัติหน้าที่ และทำงานด้านการข่าว เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมอบนโยบายว่า บุคคลใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ จะต้องถูกลงโทษอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะตำแหน่งใด และแรงงานที่ตกอยู่ในขบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นชนเชื้อชาติใด จากถิ่นฐานไหน เมื่อเข้ามาตกระกำลำบากบนแผ่นดินไทย รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลทุกชีวิต ตามหลักมนุษยธรรม โดยยอมรับว่า การที่ขบวนการนี้ สามารถนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำนวนมาก และท้าทายกฎหมายอย่างอุกอาจเช่นนี้ เป็นไปได้สูงที่จะมีเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอำนาจรวมถึงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันด้วย ซึ่งท่านนายกฯ ได้สั่งการเด็ดขาด ไปยังหน่วยปฏิบัติแล้วว่า ต้องดำเนินการโดยไม่ละเว้นแม้แต่รายเดียว



ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการพิสูจน์ศพชาวโรฮิงยาในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีจำนวนทั้งสิ้น  26 ศพ แยกเป็นชาย 25 ศพ หญิง 1 ศพ โดยมีการเคลื่อนย้ายศพเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม จำนวน 5 ศพ และวันที่ 2 พฤษภาคมอีก  21 ศพ เป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 3 ศพเป็นผู้ชายทั้งหมด และมี 1 ศพที่พบร่องรอยอาจเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายแต่แพทย์ยังไม่ยืนยัน มีระยะการเสียชีวิตมีตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึงกว่า 1 ปี จึง สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการเจ็บป่วยหรือขาดอาหารในระหว่างรอเดินทางต่อหรืออาจถูกทำร้าย และในเช้าวันนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.จะออกเดินทางไปยังจังหวัดสงขลา



*-*

ข่าวทั้งหมด

X