การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 สรุปผลการคัดเลือกแนวสายทาง โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เพื่อแนะนำประชาสัมพันธ์โครงการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และโครงข่ายโดยรอบด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) , บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ศึกษาคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมของโครงการ โดยพิจารณาเปรียบเทียบความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมและจราจร เศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนสรุปได้ว่า "แนวสายทางที่ 2.2" เป็นแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด"
โครงการจะมีลักษณะเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน ไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจ จนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor ระยะทางรวมประมาณ 6.7 กม. อุโมงค์กว้าง 16 เมตร แบ่งเป็น 2 ชั้น ขาไป 1 ชั้น 2 ช่องทางจราจร และขากลับ 1 ชั้น 2 ช่องทางจราจร รวมเป็น 4 ช่องทางจราจร รองรับเฉพาะรถ 4 ล้อ ตัวอุโมงค์จะมีความลึกประมาณ 40 เมตร หรือความลึกประมาณอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นอุโมงค์ที่ใหญ่ที่สุดของการทางพิเศษฯ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ก็กำลังสร้างอุโมงค์ทางด่วนในลักษณะนี้เช่นกัน
โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองในอนาคต คาดว่าจะสามารถสรุปโครงการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ในช่วงปี 2568 เริ่มก่อสร้างในปี 2570 โดยงบประมาณของ กทพ.ประมาณ 36,000 ล้านบาท และคาดว่าเปิดใช้งานได้ในปี 2575
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา มาตอบข้อซักถามและรับฟังข้อกังวลจากประชาชน เช่น ข้อกังวลเรื่องฝุ่นละอองจากการขนดินระหว่างก่อสร้าง ซึ่งผู้จัดการโครงการ ชี้แจงว่า จะระบุเป็นข้อกำหนดและมาตรการในไออีเอและระบุในสัญญาของผู้รับจ้าง ส่วนเรื่องมาตรการป้องกันน้ำท่วมในอุโมงค์ ทางผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่าอุโมงค์มีระบบป้องกันน้ำเข้าอุโมงค์และมีระบบระบายน้ำ ระบบดับเพลิง ระบบระบายอากาศ ระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งมีจุดหนีภัยทั้งแบบบันไดและลิฟต์ มีเส้นทางฉุกเฉินพิเศษสำหรับรถพยาบาล ส่วนรถกู้ภัยหรือรถดับเพลิงก็สามารถเข้าอุโมงค์กรณีเกิดเหตุได้ ขณะที่เรื่องการจราจรที่อาจจะติดขัดในช่วงก่อสร้าง ผู้จัดการโครงการแจ้งว่า อาจมีช่วงติดขัดในจุดที่เป็นทางขึ้นลงโครงการเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นการทำงานใต้ดินเป็นหลัก แต่ทางโครงการจะจัดมาตรการป้องกันและแก้ไขด้านการจราจรระหว่างก่อสร้างอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังมีข้อห่วงใยเรื่องสัญญาณโทรศัพท์มือถือภายในอุโมงค์ , การชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน , มาตรการกู้ภัย การอพยพคนและทางออกฉุกเฉินสำหรับรถในอุโมงค์ เป็นต้น โดยข้อห่วงใยต่างๆ ที่สะท้อนจากประชาชนในวันนี้ กทพ.และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จะนำไปศึกษาและกำหนดมาตรการอย่างละเอียดในขั้นตอนต่อไป จากนั้นจะมีการประชุมร่วมกับประชาชนอีกครั้ง เพื่อแจ้งผลสรุปทั้งหมดของโครงการ
#ทางด่วนขั้นที่3ตอนN1
#การทางพิเศษแห่งประเทศไทย