ช่วงเย็นวานนี้ (12 ส.ค.) ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดเพชรบุรี แจ้งเหตุเรือนักท่องเที่ยวที่ออกไปชมวาฬบรูด้ากลางทะเล บริเวณ ต.บางตะบูนออก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และกำลังกลับเข้าฝั่ง ถูกพายุงวงช้างซัดจนเรือล่ม มีผู้บาดเจ็บและสูญหายหลายราย
เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุบริเวณบางตะบูน ปลายแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลออกทะเลปากอ่าว ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ขณะที่เรือกำลังเข้าฝั่ง หลังพานักท่องเที่ยวออกไปดูวาฬบรูด้า แต่จังหวะนั้นมีลมพายุก่อตัว เป็นพายุงวงช้าง ซัดบ้านเรือนที่อยู่บริเวณบางตะบูน จนหลังคาปลิวว่อน จากนั้นพายุได้ก่อตัวขนาดใหญ่ขึ้น หมุนลงทะเลและซัดเข้ากับเรือนักท่องเที่ยวจนล่มกลางทะเล ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผู้ถ่ายคลิปไว้ได้
ขณะที่นายสัมพันธ์ คนขับเรือ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุ พานักท่องเที่ยว 7 คน จากรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ลงเรือแท็กซี่ออกจากปากอ่าวบางตะบูน เพื่อไปชมพระอาทิตย์ตกดิน ที่ปากอ่าวทะเลบ้านแหลม ระหว่างนำเรือกลับฝั่ง เหลืออีกแค่ 2 กิโลเมตร จะถึงรีสอร์ต ปรากฏว่าเกิดพายุซัดจนเรือคว่ำ นักท่องเที่ยวไม่ได้ใส่เสื้อชูชีพ ตนพยายามว่ายไปช่วยผู้โดยสาร แต่ช่วยได้ไม่หมด
สำหรับคนบนเรือดังกล่าวมีทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวหญิง 4 คน นักท่องเที่ยวชาย 3 คน และคนขับเรือ 1 คน ได้รับความช่วยเหลือกลับขึ้นฝั่งได้ 6 คน ยังมีนักท่องเที่ยวชายอีก 2 คนที่ยังสูญหาย โดยนาย ศรัณย์ เกตุทอง นายอำเภอบ้านแหลม ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมผู้สูญหาย ทั้ง 2 รายอย่างเร่งด่วนแล้ว โดยนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ก็ลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย แต่การค้นหาเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิกู้ภัยสว่างสรรเพชญธรรมสถาน ระบุว่า มีอุปสรรค์ คือ ช่วงค่ำกระแสน้ำแรงและมืด นักประดาน้ำพยายามค้นหา 2 รอบ แต่ไม่พบ จึงต้องยกเลิกการค้นหาช่วงเที่ยงคืน แต่เริ่มการค้นหาใหม่ช่วงเช้าวันนี้ (13 ส.ค.66) ซึ่งจะค้นหาทั้งบริเวณจุดเรือล่ม และริมชายฝั่งด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดหวังว่า ผู้สูญหายทั้ง 2 คน จะรอดชีวิต ถูกน้ำพัดไปติดตามป่าโกงกาง
ด้าน อ.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และประธานชมรมคนรักมวลเมฆ ระบุว่า พายุดังกล่าว อาจจะเป็นพายุกัสต์นาโด (gustnado) เนื่องจากหลังเกิดเหตุ มีฝนตก แต่ตกไม่นาน โดยพายุหมุน "กัสต์นาโด"(gustnado) เป็นการหมุนวนของอากาศในแนวดิ่งตามบริเวณแนวปะทะลมกระโชก จะเริ่มหมุนขึ้นจากผิวพื้นและอาจพุ่งสูงขึ้นได้มากถึง 300 ฟุต หรือราว 100 เมตร บริเวณที่เกิดกัสต์นาโด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวปะทะลมกระโชก อาจอยู่ห่างจากเมฆฝนฟ้าคะนองได้ถึงราว 3.7-5.6 กิโลเมตร ซึ่งพายุหมุนแบบนี้ เกิดได้โดยไม่เลือกพื้นที่ เกิดได้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยเคยเกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อหลายปีที่แล้ว ส่วนพายุงวงช้างจะมีความรุนแรงกว่าพายุหมุนกัสต์นาโด พร้อมเตือนว่า หากเกิดพายุหมุน อย่าอยู่ใกล้กระจก เพราะอาจได้รับอันตรายจากกระจกแตก ให้อยู่ในอาคารที่ปลอดภัย
#พายุงวงช้าง
#เรือนักท่องเที่ยวล่ม
#เพชรบุรี
CR ขอบคุณภาพ นัฐพล แสนหมื่น , ถ่ายทอดสดจุดเกิดเหตุเพชรบุรี และ Chanchai Thongklam