นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าจุดแข็งของเพื่อไทย คือ ทีมเศรษฐกิจที่จะมาขับเคลื่อนนโยบาย แต่ก็ต้องดูกันอีกทีว่า โครงสร้างกระทรวงเศรษฐกิจจะกระจายไปอยู่ที่พรรคร่วมหรืออยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย เพราะในยุคที่พรรคเพื่อไทยได้ 377 ที่นั่งในรัฐสภา กระทรวงหลักทั้งหมดอยู่ในมือเพื่อไทย ทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน
ส่วนนโยบายใดควรเริ่มเป็นอย่างแรกนั้น นายเกรียงไกร เชื่อว่า ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ทราบดี ซึ่งภาคเอกชนอย่าง กกร. ก็ได้ยื่นสมุดปกขาวให้แล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญลำดับแรก คือ เรื่องของโครงสร้างต้นทุนที่จะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการแข่งขันลำบาก ซึ่งต้นทุนในที่นี้รวมถึงค่าไฟ เป็นปัญหาที่ทุกพรรคต่างก็รับรู้ เพราะจากนโยบายหาเสียงหลายพรรค รวมถึงเพื่อไทยเองก็ได้พูดถึงการแก้โครงสร้างและลดราคาค่าไฟลง นายเกรียงไกร มองว่า ค่าไฟเป็นปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้ค่าครองชีพพุ่งกระจายขึ้น
นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน โดยรวมหนี้ในระบบ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถและหนี้สหกรณ์อื่นๆ ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 90.6 แต่ความจริงแล้ว ยังไม่ได้รวมหนี้ที่อยู่นอกระบบจริงๆ เข้ามา ซึ่งมีเกือบร้อยละ 20 ของระบบ ทำให้ถึงเวลาแล้วที่ต้องเดินหน้าแก้ไขสิ่งที่กดทับกำลังซื้อของคนในประเทศ
ส่วนเรื่องสัญญาณการลงทุนจากต่างชาติก็ต้องดูแต่ละประเทศ อย่างจีนมีการลงทุนอย่างแน่นอนในเรื่องของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนญี่ปุ่นเข้าใจการเมืองไทยเพราะมีการลงทุนในไทยกว่า 40 ปี ที่น่ากังวล คือ กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่พวกเทคโนโลยีชั้นสูง พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีด้านความยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่มาจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้กลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวเรื่องสถานการณ์การเมืองมากกว่านักลงทุนเอเชียอย่างจีนหรือญี่ปุ่น แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไทยเองก็อยากได้มาทดแทนอุตสาหกรรมเดิม เพราะเราอยากปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยไปในเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูง
นายเกรียงไกร ยังหวังว่า สถานการณ์การเมืองจะไม่กระทบนักลงทุนที่จะเข้ามา เพราะไม่ว่าจะสหรัฐฯหรือยุโรปต่างก็ต้องการย้ายฐานการผลิต ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะไทยที่จะตอบโจทย์มาก เพราะมีความพร้อมเรื่องพลังงานหมุนเวียนและมีการสนับสนุนธุรกิจจากภาครัฐ
ขณะที่ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นายเกรียงไกร มองว่า เป็นระบบควบคุมการใช้จ่ายเงินได้ เพราะสิ่งที่กลัวที่สุด คือ ต่อให้ใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายประชาชนอาจจะนำเงินตรงส่วนนี้ไปใช้จ่ายในเรื่องของการผ่อนรถ จ่ายหนี้ ที่เงินไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการสร้างงานสร้างเงิน แต่เป็นภาคของการใช้จ่ายมากกว่า ภาคเอกชนจึงหวังว่านโยบายนี้จะสำเร็จ เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ และมีหลายฝ่ายว่าเป็นการสร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าทำแล้วก็มีเหตุผลว่ามันคุ้ม เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ ความแม่นยำ และระบบ ที่จะควบคุมเพื่อให้ได้เป้าหมายที่สุด
#จัดตั้งรัฐบาล
#ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย
#แจกเงินดิจิทัล