นโยบายเปิดพรมแดนของออสเตรเลีย สำหรับนักเรียนนักศึกษาต่างชาติหลังจากโรคระบาด ส่งผลให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของคนหนุ่มสาวชาวภูฏาน ที่ต้องการแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ โดยในช่วง 11 เดือนจนถึงในเดือนพฤษภาคม ของปีนี้ (2566) มีการอพยพย้ายถิ่นฐานของนักศึกษาจากภูฏานไปยังออสเตรเลียจำนวนมากกว่า 12,000 คน หรือประมาณร้อยละ 1.5 ของประชากรในประเทศ การขอวีซ่านักเรียนนักศึกษา มีจำนวนเพิ่มขึ้น 5 เท่าในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน
ผู้ที่เดินทางมาถึงออสเตรเลียส่วนใหญ่จะลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรต่างๆ เช่น การดูแลเด็ก การต้อนรับและการบัญชี โดยจะตั้งถิ่นฐานในเมืองเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของชาวภูฏาน
ออสเตรเลียมีนโยบายจูงใจนักเรียนนักศึกษาต่างชาติเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาจากจีนแต่อัตราการเพิ่มขึ้นกลับช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่ง นายฟิล ฮันนี่วูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมีความกระตือรือร้นที่จะกระจายความหลากหลาย และได้รับการแจ้งเตือนจากรัฐบาลชุดที่แล้วและรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าไม่ควรพึ่งพาจีน อินเดีย และเนปาลมากเกินไป จึงเปิดตลาดการศึกษาในประเทศใหม่ๆ
ภูฏานมีชื่อเสียงในด้านดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ ปัจจุบันภูฏานกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานของเยาวชนสูงถึงร้อยละ 26 มีระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำและการท่องเที่ยว เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในเวลาเดียวกันการปฏิรูประบบราชการยังมีส่วนให้กลุ่มคนในวัยทำงานหลั่งไหลออกนอกประเทศ
…
#ภูฏาน
#ออสเตรเลีย