รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Russia-Africa summit ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 2 วัน เริ่มจากวันนี้ มีผู้แทนจาก 49 ประเทศในทวีปแอฟริการ่วมประชุม ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย แถลงเปิดการประชุมเวทีเศรษฐกิจและมนุษยธรรม(Economic and Humanitarian Forum) ว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียโดยชาติตะวันตก ทำให้การขนส่งสินค้าจำพวกอาหารและปุ๋ยจากรัสเซียไปยังทวีปแอฟริกาดำเนินการได้ยากลำบากกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ การทำธุรกรรมทางธนาคารและการโอนเงินต่างๆ
นายปูตินยังได้ชี้แจงสาเหตุที่รัสเซียถอนตัวออกจากข้อตกลงให้เรือยูเครนส่งสินค้าเกษตรผ่านทะเลดำสู่ตลาดโลกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เพราะชาติตะวันตกไม่ยอมทำตามเงื่อนไขตามที่รัสเซียระบุไว้ในข้อตกลง เช่น การไม่ผ่อนผันให้ธนาคารรัสเซียเข้าสู่ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication)
นายปูติน กล่าวว่า มีภาพที่ขัดแย้งกันอยู่ในใจคือ ด้านหนึ่งชาติตะวันตกมุ่งจะจำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรและปุ๋ยจากรัสเซียไปยังทวีปแอฟริกา แต่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคำอุปมาที่เรียกว่า มือถือสากปากถือศีล คือ ชาติตะวันตกกล่าวหารัสเซียฝ่ายเดียวว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาภาวะไร้ความมั่นคงทางอาหารในทวีปแอฟริกา
นายปูตินกล่าวว่าในจำนวนปุ๋ย 262,000 ตัน ซึ่งรัสเซียส่งออกและถูกยึดไว้ในท่าเรือต่างๆของยุโรป มีเรือ 2 ลำที่สามารถส่งถึงจุดหมายปลายทางจริงๆคือ เรือลำแรกส่งปุ๋ย 20,000 ตันไปยังประเทศมาลาวี และเรือลำที่ 2 ขนส่งปุ๋ย 34,000 ตันไปยังเคนยา ที่เหลือยังถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรของยุโรปยึดไว้ในท่าเรือต่างๆในยุโรป
นายปูตินกล่าวว่า การค้าระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกามีมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่แล้ว เพิ่มเติมว่า ทุกคนทราบโดยทั่วไปว่าในปัจจุบัน ทวีปแอฟริกามีศักยภาพสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าสูงกว่าที่อื่นๆทั่วโลก
ผู้นำรัสเซียกล่าวอีกว่า รัสเซียสามารถจะเข้าทดแทนยูเครนในเรื่องการส่งออกธัญพืช เช่น ข้าวเปลือก ไปยังทวีปแอฟริกาและรัสเซียจะจัดส่งข้าวเปลือก 25,000-50,000 ตันโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆสำหรับ 6 ประเทศในแอฟริกาคือ บูร์กินาฟาโซ,ซิมบับเว,มาลี,โซมาเลีย,สาธารณรัฐแอฟริกากลางและเอริเทรียใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพิ่มเติมว่า รัสเซียและกลุ่มประเทศในแอฟริกาสามารถจะร่วมมือกันในด้านเกษตรกรรม พลังงาน วิทยาศาสตร์และการศึกษา
#รัสเซียแอฟริกา
#วิกฤตอาหาร