จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 31 ก.ค.2566 เป็นวันหยุดพิเศษ เพื่อให้มีวันหยุดยาว 6 วันตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. - 2 ส.ค. แต่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำให้ รพ.ต้องหยุดและเลื่อนนัดผู้ป่วยที่มีคิวตรวจหรือผ่าตัดออกไป จนประชาชนได้รับผลกระทบ รวมถึงกระทบตารางการทำงานของบุคลากร จนมีการทักท้วงว่า ควรประกาศล่วงหน้า
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้กำชับไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ว่า หากเป็นไปได้ขอให้ รพ.ในสังกัด สธ. เปิดบริการตามปกติ โดยเฉพาะการนัดผ่าตัดผู้ป่วย ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบ และให้ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัด สธ. ไปสื่อสารกับทางชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ว่า สธ.ขอให้ รพ.เปิดบริการ แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสมว่า ตรงไหนเปิดได้ ตรงไหนเลื่อนได้ ซึ่งต้องอยู่ที่การบริหารภายใน รพ.นั้นๆ โดยให้ประกาศแจ้งบุคลากรและประชาชนให้รับทราบ
ล่าสุดเห็นมี รพ.หลายแห่งประกาศออกมาแล้ว เช่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.วชิระภูเก็ต ที่สำคัญเมื่อ ครม.ประกาศวันที่ 31 ก.ค.2566 เป็นวันหยุดราชการ ต้องมีการบริหารเรื่องค่าโอทีให้กับบุคลากรที่ต้องมาทำงานวันหยุด ต้องพิจารณาให้พวกเขาด้วย ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม
นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผอ.รพ.มหาราช นครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องจากมติ ครม.ออกมา สธ.มีการบริการคนไข้ตามปกติ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ช่วงวันที่ 31 ก.ค. ซึ่งจะติดหยุดยาว สธ.กับ รพ.เห็นว่าจะมีปัญหากับผู้ป่วย เพราะนัดไปแล้วเลื่อนไม่ทัน และยิ่งเมื่อหยุดยาว พอเปิดราชการตามปกติ ผู้ป่วยจะมารับบริการจำนวนมาก การบริการจะไม่เพียงพอ ดังนั้น คนไข้นัดมาแล้ว อย่างนัดผ่าตัด จึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้รพ.มีการหารือกันกับรองแพทย์ กับองค์กรแพทย์ทั้งหมดว่าถ้าเปิดได้ก็ควรทำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยทั้งของรพ. และทั้งจังหวัด แต่เมื่อเป็นวันหยุด จึงเป็นการทำงานเวลานอกราชการ ก็จะมีการจ่ายค่าตอบแทนนอกเวลา จ่ายค่าโอทีให้ ซึ่งแพทย์ บุคลากรใน รพ.มหาราชฯไม่ได้มีปัญหาตรงนี้
รพ.มีจำนวนเคสผ่าตัดเยอะอยู่ เนื่องจากรพ.มหาราชเป็นรพ.จังหวัดขนาดใหญ่ เป็น รพ.ระดับเชี่ยวชาญ ประชาชนจึงมารับบริการจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อมีประกาศเป็นวันหยุด จึงต้องมาพิจารณาว่า อันไหนเลื่อนนัดได้หรือไม่ได้ ถ้าเลื่อนได้ก็ต้องไม่ขยับออกไปไกลมาก กรณีคนไข้รอไม่ได้ เช่น ก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยง ก็จะทำให้เลย ส่วนการผ่าตัดนอกเวลาก็จะเป็นเรื่องฉุกเฉินเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เรื่องเตรียมพร้อมรับบริการฉุกเฉินวันหยุดยาวจะพบการรับบริการมากเป็นพิเศษ รพ.เตรียมพร้อม บริหารจัดการตามปกติอยู่แล้ว เพียงแต่หยุดยาวก็จะต้องอาศัยกำลังแพทย์ พยาบาลมาช่วยนอกเวลามากขึ้น และทีมบริหารก็จะดูแลสนับสนุนบุคลากรอื่นๆ ที่มาช่วยในวันหยุดยาว
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ส่วนของ รพ.จิตเวช ได้ให้แนวทางในส่วนของ รพ.ขนาดใหญ่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก อาจจะขอให้มีการเปิดบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวช ที่อาจจะไม่ได้รับรู้ข่าวสารว่ามีการประกาศให้วันที่ 31 ก.ค.เป็นวันหยุดราชการ ส่วน รพ.จิตเวชขนาดเล็ก เบื้องต้นให้ ผอ.รพ.เป็นผู้พิจารณา เบื้องต้นที่เห็นประกาศอย่างชัดเจนว่ามีการเปิดให้บริการคือ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ ส่วนข้อกังวลกรณีมีผู้ป่วยจิตเวชรับนัดยารักษาโรคจิตเวชในวันนั้น ไม่ต้องกังวล สามารถเดินทางไปรับยาได้ตามปกติ เพราะ รพ.จิตเวชแต่ละแห่งจะมีแพทย์เวร และบุคลากรที่เข้าเวรคอยดูแล และระบบการจ่ายยารักษา รพ.ไม่ได้จ่ายให้จำนวนเป๊ะๆ อยู่แล้ว เราจะจ่ายแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดไปด้วย จึงไม่กังวลอะไร
ในส่วนของโรงเรียนแพทย์นั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า รพ.ศิริราชเปิดให้บริการวันที่ 31 ก.ค. 2566 เพื่อให้การบริการเป็นไปด้วยความระเบียบเรียบร้อยและลดผลกระทบประชาชน เช่นเดียวกับ รพ.จุฬาลงกรณ์ที่ออกประกาศเปิดให้บริการเช่นกัน
ล่าสุดวันนี้ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เข้าใจถึงเหตุผลของ ครม.ที่ประกาศวันหยุดพิเศษ แต่หลายอย่างการทำงานของ รพ. มีลักษณะการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ทุก รพ.มีการนัดหมายคนไข้มานาน จึงหยุดไม่ได้ในวันที่ 31 ก.ค. นี้ แม้จะเข้าใจว่าเป็นช่วงวันหยุดยาว คนอาจไม่ได้มาตามนัดหมายทั้งหมด อาจถือโอกาสหยุดยาว แต่สำหรับ รพ.จุฬาฯ ในวัน 31 ก.ค. มีการนัดหมายผ่าตัดใหญ่ 114 เคส มีการส่องกล้อง 86 เคส เอกซ์เรย์ 400 คน เคมีบำบัด 254 คน ผู้ป่วยนอกที่มีนัดหมาย 3,500 คน พอประกาศเป็นวันหยุดราชการจะทำอย่างไร ผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งคนทำงาน และคนไข้
คนไข้เดิมอาจต้องเลื่อนนัด กลายเป็นการทำนัดใหม่ และกลายเป็นเบียดเบียนคนไข้ที่มีคิวนัดเดิม เรื่องนี้เจ้าหน้าที่กังวลมากกว่าคนไข้ เพราะไม่ได้อยากหยุด รพ.จุฬาฯ จึงประกาศเปิดบริการตามปกติ ส่วนเรื่องของโอทีไม่ได้มีการจ่าย โดยได้มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ เหมือนกับวันทำงานตามปกติ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ กลัวว่า ถ้าหยุดจะมีปัญหามากกว่า ทั้งการจัดคิว และหาก รพ.หยุดคนไข้ที่มาไม่รู้ว่าหยุดจะทำอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่า ควรกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการทำงานไม่ใช่การหยุดยาว
ทางด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ได้มีการหารือกับหน่วยบริการของ รพ.หลายหน่วยเห็นตรงกัน คือ การเปิดให้บริการ ตามปกติ รพ.จะวางระบบการทำงานในช่วงวันหยุดและมีการจ่ายโอทีแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อ ครม.ประกาศมาอย่างกะทันหันและกระชั้นชิด หลายหน่วยบริการใน รพ.จึงเปิดบริการ เพราะส่วนใหญ่เห็นตรงกันถึงความลำบากของคนไข้ในการเลื่อนนัด จะเป็นปัญหาคนไข้สะสมตกค้างในสัปดาห์ถัดไป แต่ในส่วนของการผ่าตัด หรือ เคมีบำบัด ได้ให้พิจารณาและคัดกรอง เหลือ 50% ในเคสที่จำเป็นเร่งด่วน ที่ผ่านมาอย่างตอนช่วงจัดประชุมเอเปคก็รู้ล่วงหน้านานเป็นเดือน ทำให้สามารถบริหารจัดการเลื่อนนัดคนไข้ได้ ทุกอย่างก็ปกติ ขณะนี้กำลังเร่งทำประกาศแจ้งคนไข้และเจ้าหน้าที่ใน รพ.ทราบ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร จะยังเปิดให้บริการปกติ เพราะโรงพยาบาลหลายแห่งมีการนัดหมายกับผู้ป่วยล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว หากหยุดให้บริการก็ต้องเลื่อนการรักษาไป ดังนั้นจึงประสานสำนักการแพทย์ ที่ดูแลโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครเปิดให้ประชาชนตามปกติ หากโรงพยาบาลใดมีข้อขัดข้องขอให้รีบแจ้งเข้ามาที่ส่วนกลาง
ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุข ต้องดูอีกทีว่าจะเปิดให้บริการในวันที่ 31 กรกฎาคมหรือไม่ เพราะศูนย์บริการสาธารณสุข ไม่มีการนัดหมายผู้ป่วยล่วงหน้า แต่ส่วนตัวแล้วอยากให้เปิดบริการ เพราะคนป่วยไข้รอไม่ได้ ไม่มีวันหยุด ถ้าสั่งหยุดกะทันหันจะมีผลกระทบกับผู้ป่วย เพราะบางคนอาจจะวางแผนเดินทางมาหาหมอไว้แล้ว
#กระทรวงสาธารณสุข
#โรงพยาบาลเปิดวันหยุดพิเศษ