ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิ.ย.66 การส่งออกมีมูลค่า 24,826 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 6.4 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดไว้จะลดลงร้อยละ 7.3 ถึงร้อยละ 9.3 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 24,768 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 10.3 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนมิ.ย.66 ไทยเกินดุลการค้า 57.7 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.66) มีมูลค่า 141,170 ล้านดอลลาร์ลดลง ร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 147,477 ล้านดอลลาร์ลดลง ร้อยละ3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก ไทย ขาดดุลการค้า 6,307 ล้านดอลลาร์
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้อัตราการส่งออกในเดือนมิ.ย.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จะยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปีก่อน แต่หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าแล้ว จะพบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น และถือว่าการส่งออกของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
นอกจากนั้น ยังพบว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว ขณะที่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด รวมทั้งคู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไข่ไก่ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.3
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกของไทย คือ
1.ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรยังคงเติบโต
2.การได้รับอานิสงส์จากการกระจายแหล่งนำเข้าของคู่ค้า เพื่อทดแทนแหล่งซื้อเดิมที่ประสบปัญหาด้านผลผลิต และ
3. การเติบโตของเมกะเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม การเติบโตของการท่องเที่ยว และปัญหาวัตถุดิบที่คลี่คลายลง ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ คือ ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
#ส่งออกไทย
#เดือนมิถุนายน