นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่า ในการประชุมรัฐสภา วันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.66) เมื่อเปิดประชุมแล้ว ตามมติพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอชื่อ หากมีผู้เห็นต่างว่าไม่สามารถเสนอชื่อคนเดิมซ้ำได้ เพราะติดเงื่อนไขข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ก็ต้องมีการอภิปรายกัน และสุดท้ายคงใช้วิธีลงคะแนนตัดสิน หากเสียงส่วนใหญ่ให้ญัตติดังกล่าวตก ก็ถือว่าจบไป ต้องนัดประชุมรอบใหม่
ส่วนกรณีการจะเสนอชื่อนายพิธา เพื่อโหวตนายกฯ รอบสาม จะต้องได้คะแนนในรอบสองเท่าไหร่จึงจะเสนอชื่อในรอบต่อไปได้นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเคยคุยกันเรื่องนี้ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยกตัวอย่างการโหวตรอบสามว่า จะต้องมีแนวโน้มของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่นายพิธาบอกว่าควรมีคะแนนเพิ่มขี้น 10 เปอร์เซนต์ หรือ 344-345 คะแนน ซึ่งถ้าดูคำว่า 10 เปอร์เซนต์ แล้วหมายความว่าจะต้องได้เพิ่มอีก 32 คะแนน เมื่อไปร่วมกับ 324 เสียงเดิมจากรอบแรก ก็จะต้องได้คะแนนถึง 356-360 ถึงจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายพิธาพูดเอาไว้
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคารพพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง แต่พรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการในการให้พรรคอันดับสองขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะทึกทักว่าเป็นโอกาสของตัวเองไม่ได้ โดยความชอบธรรมจะต้องรอให้มีแถลงการณ์จากพรรคอันดับหนึ่ง มอบให้พรรคอันดับสองเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจึงจะบอกได้ว่าเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ
ส่วนความพร้อมของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงสนับสนุน นพ.ชลน่าน ระบุว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อม แต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการภายในพรรคฯ ก่อน ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเนื้อหาสาระของเอ็มโอยู ทั้ง 8 พรรค แต่ไม่ใช่การยกเลิก เช่น ชื่อของนายพิธา จะต้องเปลี่ยนไปเป็นใคร, การเติมเสียงพรรคที่9 พรรคที่10 , การหาเสียง สว.มาสนับสนุนเพิ่มเติม ถ้าประธานรัฐสภา จะบรรจุญัตติเลือกนายกฯในสัปดาห์หน้าพรรคเพื่อไทยก็มีความพร้อม
ส่วนกรณีที่ สว.ยังยืนยันหลักการว่า ถ้ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลก็จะไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแค่สถานการณ์สมมุติ การจะได้ 375 เสียง จะต้องดูว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นอย่างไร และพรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง รวมถึงการฟังเสียงของ สว. องค์ประกอบเหล่านี้จะต้องนำมาประกอบกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดการณ์อะไรถึงขั้นนั้น
กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ระบุว่า จะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯ หากนายพิธาไปต่อไม่ได้ ก็เป็นความเห็นของ น.ส.แพทองธาร ซึ่งจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพรรคฯ เช่นกัน ส่วนชื่อของนายเศรษฐาจะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.ได้ทันทีหรือไม่ หากชื่อของนายพิธาไม่ผ่านนั้น ในทางปฏิบัติไม่ควรยื่นญัตติซ้อนไป เพราะชื่อของนายเศรษฐาไม่เคยเอาเข้าสู่ที่ประชุมของ 8 พรรคร่วมฯ เพื่อหารือกันมาก่อน อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูเหตุการณ์ในวันที่ 19 ก.ค. อีกครั้ง
#โหวตนายก
#พรรคเพื่อไทย
#พรรคก้าวไกล
#เอ็มโอยูพรรคร่วมรัฐบาล