พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณี ส.ว.หลายคนถูกคุกคามหลังการลงมติงดออกเสียงหรือไม่โหวตสนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ว.บางคนที่ร้องขอเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พิจารณาและจัดเจ้าหน้าที่ไปช่วยดูแล เพื่อความสงบและเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากตำรวจเห็นความสงบเรียบร้อยเป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนที่มีการเผยแพร่ข้อความ หรือการแสดงความคิดเห็นนั้น ทำได้ตามกรอบของกฎหมาย และต้องไม่ไปรบกวนสิทธิหรือข่มขู่ผู้อื่น จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทุกกลุ่ม แสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบของกฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้น อาจถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท , ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ได้
ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ช่วงนี้มีการใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล โจมตี หรือบูลลี่ บางครั้งก็เผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อติดตามการ Social Listening , การติดตามความเคลื่อนไหวของ ข่าวสารต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ที่ทําให้เกิดความเสียหาย ทั้งด้านความมั่นคง หรือความเสียหายส่วนบุคคล หากเป็นความเสียหายด้านความมั่นคง ก็จะดําเนินการตามกฎหมาย ปิดกั้นและดําเนินคดี แต่ถ้าเป็นความเสียหายส่วนบุคคล ก็เข้าข่ายมาตรา 328 ความผิดส่วนตัวและหมิ่นประมาท ก็ต้องให้ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษแจ้งความดําเนินคดี โดยตอนนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ที่เสียหายทุกท่าน ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกบูลลี่ ถูกโจมตี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้เข้ามาแจ้งความ ตามกระบวนการ เช่น แจ้งที่สถานีตํารวจในพื้นที่ หรือมาแจ้งที่ตํารวจไซเบอร์ สอท. ส่วนกระทรวงดิจิทัลฯ ก็จะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนเรื่องข้อมูล เรื่องการประสานงาน โดยเฉพาะการพิสูจน์ยืนยันตัวตนของอวตาร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งหาตัวตน และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
#สมาชิกวุฒิสภา
#ไซเบอร์บูลลี่