นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรดแมป 2 สมรภูมิ คือ การผลักดันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นนายกฯ ในการโหวตรอบสอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.โดยระบุว่า รูปแบบของโรดแมป เป็นไปตามที่นายพิธาแถลง ประกอบกับบรรยากาศการสนับสนุนจากประชาชนที่สะท้อนออกมา เป็นการประเมินว่าโอกาสที่นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ มีมากน้อยอย่างไร ถ้าชัดเจนว่าโอกาสมีน้อยจริงๆ นายพิธาพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศอีกครั้ง ด้วยการให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนยุทธศาสตร์ในการดึงเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. นายชัยธวัช กล่าวว่า จะพยายามพูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ว.โดยเฉพาะกับส.ว.ที่ยังลังเล ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย และยังมีอีกหลายวิธีการ แต่ก็ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจซ้ำรอยการโหวตรอบแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.66
กรณีที่ขั้วการเมืองเดิม อาจจะเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาแข่งกับนายพิธาในวันโหวตนายกฯ นายชัยธวัช กล่าวว่า หากมีการเสนอชื่อจริงก็ควรให้มีการอภิปรายในสภาฯ ซึ่งการที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยเสนอชื่อแข่งนายกฯ เป็นเรื่องปกติในระบบรัฐสภาอยู่แล้ว แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะหลายคนก็เกิดความกังวลว่า หาก พล.อ.ประวิตร ถูกเสนอชื่อแข่ง จะได้รับการโหวตอย่างท่วมท้น ทั้งจาก ส.ว.และฝั่ง ส.ส.เสียงข้างน้อย จนสามารถขึ้นเป็นนายกฯ ได้ แต่ตนยังประเมินว่า อาจจะไม่ได้กังวลขนาดนั้น เพราะเชื่อว่าแม้จะมี ส.ว.ส่วนหนึ่งที่พร้อมจะสนับสนุน พล.อ.ประวิตร แต่ก็มี ส.ว.จำนวนมากที่ไม่พร้อมจะโหวตให้เช่นกัน ซึ่งความเป็นเอกภาพใน ส.ว.นั้นไม่มี เพราะส.ว.จำนวนมากก็ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายต่อสังคมได้ว่า ในเมื่อไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ทั้งที่เป็นเสียงข้างมาก แล้วเหตุผลอะไรที่จะต้องโหวตให้กับ พล.อ.ประวิตร ยังไม่รวมถึงคุณสมบัติความเหมาะสมในการเป็นผู้นำประเทศ ในสถานการณ์ที่ประเทศต้องการผู้นำเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และยังเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร ก็ยังไม่พร้อมที่จะเสนอชื่อตัวเองแข่งด้วย
ขณะที่ การหารือของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะมีประเด็นเรื่องการประเมินสถานการณ์ รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่จะเสนอร่วมกันในวันที่ 19 ก.ค.66 ซึ่งพรรคร่วมส่วนใหญ่จะยอมรับในข้อเสนอที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้ข้อสรุปร่วมกัน นอกจากนี้จะมีการเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะมีการป่วนในรัฐสภาได้ เช่น การพยายามเสนอให้ตีความตามข้อบังคับของรัฐสภา เพื่อไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ชิงนายกฯ ซ้ำอีกครั้ง
#โหวตนายก
CR ขอบคุณภาพ เฟซบุ๊ก วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา