นายจอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่ง 4 วัน เริ่มจากวันนี้ เพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศจีนในเรื่องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงการทำให้บรรลุเป้าหมายของการประชุม COP28 หรือ เวทีประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปลายปีนี้
บีบีซี รายงานว่า นายแคร์รีจะพบกับนายเซี่ย เจิ้นหัว ทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศจีน นายติง เซวียเสียง รองนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆของจีน นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนล่าสุดจากสหรัฐฯที่มาเยือนประเทศจีน ต่อเนื่องจากการเยือนของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศและนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ
ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เช่น นายแดน แคมเมน อาจารย์สาขาวิชาพลังงาน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบิร์กลีย์ สหรัฐฯ ตั้งคำถามว่า สหรัฐฯและประเทศจีนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสองอันดับแรกของโลก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลกจะสามารถหยุดพักเรื่องปัญหาความตึงเครียดทางการทูตไว้ชั่วคราว เพื่อหันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่
นายลี ซัว ที่ปรึกษานโยบายทั่วโลกขององค์กร กรีนพีซ อีสต์ เอเชีย (Greenpeace East Asia)สาขากรุงปักกิ่ง คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ช่วงจังหวะที่สัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาพูดคุยเรื่องนี้ก่อนการประชุม COP28 ปลายปีนี้ โดยพักเรื่องสัมพันธ์ทวิภาคีจากการพูดคุยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของทุกประเทศทั่วโลก
แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จะไม่มีการตัดสินใจในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญๆ แต่อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่า มหาอำนาจทั้งสองต้องการจะเริ่มติดต่อสื่อสารกัน เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น พร้อมทั้งหารือถึงอุปสรรคในการผลักดันโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ในปัจจุบัน รัฐบาลของประเทศทั้งสองพยายามจะสร้างสมดุล ระหว่างความต้องการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตกับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หลายครั้ง ประเทศทั้งสองดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายลดภาวะโลกร้อนที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันในตัวเอง กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ เช่น ประเทศจีน สนับสนุนเรื่องพลังงานทดแทน แต่อีกด้านหนึ่ง ประเทศจีนอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งในปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้า
ส่วนสหรัฐฯ แม้สภาคองเกรสสหรัฐฯจะผ่านร่างกฎหมาย 2 ฉบับ สนับสนุนเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการพลังงานสะอาดเมื่อเร็วๆนี้ แต่อีกด้านหนึ่งสหรัฐฯอนุมัติร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง อนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของรัฐอะแลสกาเมื่อเร็วๆนี้ กระทั่งถูกวิจารณ์จากบรรดานักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เช่นเดียวกัน
#นายจอห์นแคร์รีเยือนจีน
#แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน