รอยเตอร์รายงาน อ้างแถลงการณ์จากรัฐบาลอังกฤษว่า อังกฤษ สหรัฐฯและกลุ่มพันธมิตรทั่วโลกจะเปิดตัวแนวทางการรับรองด้านความมั่นคงใหม่สำหรับยูเครน หลัง 31 ประเทศสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต)ระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมสุดยอดในกรุงวิลนีอุส ลิทัวเนียในวันนี้ว่า นาโตพร้อมจะสนับสนุนยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคต แต่ไม่กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องวันเวลา หรือเงื่อนไขการเป็นสมาชิกสำหรับยูเครน
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ซึ่งร่วมประชุมกับผู้นำนาโตในลิทัวเนียด้วย แสดงความผิดหวังกับมติของที่ประชุมนาโต ระบุว่า ที่ประชุมน่าจะกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุมัติให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ยูเครนอยู่ในสถานการณ์สงครามนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
นายเซเลนสกีได้ประชุมทวิภาคีกับผู้นำจากสหรัฐฯ แคนาดา เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ในวันนี้ นอกรอบการประชุมของนาโต เพื่อขอการสนับสนุนด้านอาวุธเพิ่มเติมสำหรับใช้ในยุทธการโต้กลับชิงดินแดนคืนจากรัสเซียซึ่งยูเครนดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศในขณะนี้
ขณะเดียวกัน กลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือกลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วยแคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษและสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า กลุ่ม G7 จะจัดทำแผนการช่วยเหลือแก่ยูเครนไปจนกว่าจะเสร็จศึกสงครามกับรัสเซีย พร้อมทั้งช่วยให้ยูเครนสามารถป้องกันการรุกรานจากรัสเซียในอนาคต ซึ่งในภาคปฏิบัติ ข้อตกลงเช่นนี้จะทำในรูปแบบของข้อตกลงทวิภาคีกับยูเครนในเรื่องการช่วยเหลือทางการทหารและการเงิน เพื่อช่วยให้กองทัพและเศรษฐกิจยูเครนขับเคลื่อนต่อไปในสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของสหรัฐฯระบุว่าสหรัฐฯจะเริ่มพูดคุยกับยูเครนในเร็วๆนี้ คาดว่า พันธมิตรอื่นๆที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม G7 และหุ้นส่วนอื่นๆจากทั่วโลกจะให้ความร่วมมือ และทำข้อตกลงทวิภาคีในลักษณะเดียวกันกับรัฐบาลยูเครน
นาโต จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงแก่สมาชิก ภายใต้แนวคิดว่า การที่ข้าศึกโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของนาโต มีผลเท่ากับการโจมตีสมาชิกทั้งหมด แสดงท่าทีระมัดระวังโดยการเลี่ยงที่จะให้คำมั่นที่หนักแน่นในเรื่องการรับยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกนาโต หวั่นเกรงว่า การตัดสินใจเช่นนั้น จะมีผลทำให้นาโตถูกดึงเข้าสู่สงครามกับรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ
#กลุ่มG7
#ยูเครน