ความคืบหน้าเก็บกู้ซากโครงเหล็กและชิ้นส่วนก่อสร้างของสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่ถล่มลงมา ล่าสุด เจ้าหน้าที่ปิดกั้นพื้นที่ PTT Station ห้ามบุคคลไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่กำลังจะตัดโครงเหล็กที่ถล่มปิดทางเข้าออกปั๊ม และทับรถอยู่ข้างล่าง สาเหตุที่ต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยงและกันคนออกนอกพื้นที่ เนื่องจากจุดที่โครงเหล็กล้ม ไปทับจุดที่เป็นพื้นที่ถ่ายน้ำมันของปั๊ม จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างฉีดน้ำหล่อเลี้ยงและตรวจสอบความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ คาดว่า จะมีรถที่ถูกทับอยู่ใต้โครงเหล็ก 2 คัน
ขณะที่ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) มาตรวจสอบที่เกิดเหตุ ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นและการสอบถามพยานที่เห็นเหตุการณ์ พบว่าเหตุเกิดขณะที่มีการดึงลวดเพื่อเชื่อมโครงสร้างสะพานเข้าด้วยกัน คาดว่า ตัวลอนเชอร์ หรืออุปกรณ์ยึดตัวสะพานจะรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้พลิกตัวไปทางซ้าย แล้วลวดที่ใช้ดึงสั่นสะเทือนและขาด จนมีเสียงระเบิดอย่างที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนได้ยิน แล้วสะพานก็ทรุดตัวลงมา แต่เชื่อว่าไม่เกี่ยวกับโครงสร้างตอม่อของสะพาน เพราะมีการตอกเสาเข็มลึกถึงชั้นทรายและแข็งแรง รวมทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำฝนซึ่งเป็นน้ำผิวดิน จึงมีโอกาสที่จะทรุดไม่มาก แต่ก็จะต้องตรวจสอบสเปคของคอนกรีตตอม่อด้วย ส่วนการจะก่อสร้างต่อก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง และต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม ส่วนประเด็นว่า บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง จะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานและเป็นไปตามข้อกำหนดของวิศวกรรมสถานหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้
ด้าน รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า กรณีมีอาคารพาณิชย์ที่ได้รับความเสียหาย ถูกโครงเหล็กกระแทก จะต้องปรับปรุงหรือทุบทิ้งหรือไม่นั้น ยังต้องรอการตรวจสอบรายละเอียดมากกว่านี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่เบื้องต้นต้องขอให้ผู้ที่อยู่อาศัยย้ายออกไปที่อื่นก่อน
#คานสะพานถล่ม
#ลาดกระบัง