สำนักบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า อุณหภูมิของเดือนมิถุนายน 2566 สูงเกินสถิติก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน 2562 อย่างมาก โดยอุณหภูมิของเดือนมิถุนายนปีนี้สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนเดียวกันระหว่างปี 2534-2563 ราว 0.5 องศาเซลเซียส
มารีอากราเซีย มิดุลลา หัวหน้าส่วนภูมิอากาศและพลังงาน สังกัดองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ในอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายในปีก่อน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า เหตุการณ์สภาพอากาศที่เคยถูกมองว่าผิดธรรมดากำลังเกิดขึ้นเป็นประจำในปัจจุบัน กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวและมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อไป โดยคาดว่าจะเกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และอุทกภัยบ่อยขึ้น ขณะระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก
ทางด้านสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า อุณหภูมิสูงในปีนี้เกิดจากการบรรจบกันของปัจจัยต่าง ๆ นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ
ด้านโจเอริ โรเกลจ์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ สังกัดสถาบันวิจัยเกรนแธม คาดว่าอุณหภูมิทั่วโลกจะสูงเกินสถิติที่เคยมีมามากขึ้น ขณะปรากฏการณ์เอลนีโญขยายผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และถึงแม้ไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่แนวโน้มอุณหภูมิยังคงน่ากังวลมาก
เมื่อเดือนมิถุนายนปี2562 เยอรมนี โปแลนด์และ สาธารณรัฐเชก ครองตำแหน่งประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนจัดที่สุดในยุโรป ส่วนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ มีอุณหภูมิเกือบถึงระดับ 40 องศาเซลเซียส เนื่องจากการพัดพามวลอากาศร้อนมาจากทางทะเลทรายซาฮารา ทำให้เกิดคลื่นความร้อนในบางพื้นที่ของยุโรป ซึ่งทำให้หลายประเทศต้องออกคำเตือนประชาชน เนื่องจากเมื่อปี 2546 ยุโรปเคยเผชิญภัยธรรมชาติจากคลื่นความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้เจ็บป่วยมากถึง 7 หมื่นราย
โดยที่ฝรั่งเศส มีการออกคำเตือนในระดับสีส้มเกือบทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนงดออกมาอยู่กลางแจ้ง ซึ่งทางสำนักงานพยากรณ์อากาศคาดว่าในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ อุณหภูมิอาจสูงถึง 45 องศาเซลเซียส
จีนถือเป็นอีกประเทศที่เผชิญสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงฤดูร้อน เช่นเดียวกับอินเดีย อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ
โดยช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาจีน ระบุว่า อุณหภูมิในกรุงปักกิ่งและนครเทียนจิน ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคเหนือของประเทศจีน แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 41.8 องศาเซลเซียส (107 องศาฟาเรนไฮต์)
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาจีนระบุว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ อีก 15 แห่งในมณฑลต่าง ๆ เช่น มณฑลเหอเป่ยและชานตงก็รายงานอุณหภูมิสูงระดับประวัติการณ์ในวันเดียวกัน
#สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
#อากาศร้อนทำลายสถิติ