สหรัฐฯ ยืนยันจะส่ง ‘คลัสเตอร์บอมบ์’ ให้ยูเครน แม้หลายฝ่ายคัดค้าน

08 กรกฎาคม 2566, 08:57น.


        สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า หลังจากมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย กรณีที่สหรัฐฯ จะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนเพิ่ม โดยหนึ่งในนั้นคือ คลัสเตอร์บอมบ์ (Cluster Bomb) หรือ  ระเบิดลูกปราย  ซึ่งเป็นอาวุธอันตรายร้ายแรง เพื่อหวังว่าจะช่วยพลิกสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้



             ล่าสุด นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี โจ ไบเดน  แถลงยืนยันว่า สหรัฐฯ จะส่งคลัสเตอร์บอมบ์ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามในหลายประเทศให้กับยูเครน หลังจากที่เลื่อนการตัดสินใจมานาน   นายซัลลิแวน ยังยืนยันว่า ยูเครนได้ให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะใช้อาวุธเหล่านี้อย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อพลเมืองของตนเอง  และยืนยันด้วยว่า จะไม่ใช้อาวุธเหล่านี้ในต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังระบุว่า  การที่รัสเซียรุกคืบพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นอันตรายอย่างมากต่อพลเมืองยูเครน  ท่ามกลางภาวะที่กองทัพยูเครนขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์



              ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ  ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ขณะเดินทางออกจากทำเนียบขาวว่า การตัดสินใจส่งมอบระเบิดลูกปรายให้แก่ยูเครน ถือเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้อย่างยากลำบากมาก  แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก  เนื่องจากรัฐบาลยูเครนไม่มีกระสุนเหลืออยู่แล้ว ซึ่งการประกาศของไบเดนครั้งนี้ สร้างความพอใจอย่างมากให้แก่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน



           ขณะที่ปลัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ระบุว่า นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นขึ้น รัสเซียได้ใช้คลัสเตอร์บอมบ์โจมตียูเครนอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ขณะที่ยูเครนก็ต้องการอาวุธเพื่อปกป้องอธิปไตยของตนเอง  สหรัฐฯ ยอมรับถึงความกังวลด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากการใช้อาวุธประเภทดังกล่าว แต่ยืนยันว่า สิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับพลเรือนในยูเครน คือ การที่รัสเซียชนะสงครามในครั้งนี้   กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ระบุว่า  สหรัฐฯจะทำงานร่วมกับยูเครนเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้อาวุธดังกล่าว   และจะไม่มีการใช้อาวุธนี้ในพื้นที่ชุมชน ที่มีประชากรอาศัยอยู่  นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่า คลัสเตอร์บอมบ์ที่สหรัฐฯ จะส่งให้กับยูเครน  มีอัตราการเกิดความผิดพลาดอยู่ที่ 2.35% ซึ่งน้อยกว่าคลัสเตอร์บอมบ์ของรัสเซีย  ที่มีอัตราความผิดพลาดอยู่ที่ระหว่าง 30-40 %



              การที่สหรัฐฯ จัดหาอาวุธเพิ่มเติมให้กับยูเครนครั้งนี้  ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดส่งชุดความช่วยเหลือด้านความมั่นคงที่ยูเครนระบุว่า จะมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อกองกำลังทหารของรัสเซีย  ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลของหลายฝ่าย  ทั้งชาติพันธมิตรและยูเอ็น ที่กังวลว่า คลัสเตอร์บอมบ์ จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือน  เพราะคลัสเตอร์บอมบ์  หรือระเบิดลูกปราย เป็นอาวุธที่เมื่อยิงออกไปแล้ว มันจะปล่อยระเบิดขนาดเล็กออกมากลางอากาศ ระเบิดจะกระจายเป็นวงกว้าง ตกลงมาทำลายทั้งรถถังและกำลังพลของศัตรู รวมทั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย เนื่องจากการตกของระเบิดมีอัตราความคลาดเคลื่อนสูง



           นอกจากนี้ ระเบิดขนาดเล็กที่ปล่อยออกมายังมีอัตราการไม่ระเบิดสูงด้วย เช่น เมื่อตกลงในพื้นที่มีน้ำขังหรือพื้นทราย หากระเบิดไม่ทำงาน แล้วมีประชาชนมาสัมผัส อาจเกิดระเบิดขึ้นจนทำให้เสียชีวิตได้



            แม้ผ่านไปหลายสิบปี แต่คลัสเตอร์บอมบ์ก็ยังสร้างความเสียหายได้   อาวุธดังกล่าวจึงเป็นอาวุธต้องห้ามภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย (Convention on Cluster Munitions หรือ CCM) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2010  ภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ ห้ามใช้ ห้ามสะสม ห้ามผลิต และห้ามโอน รวมทั้งต้องทำลายคลัสเตอร์บอมบ์ที่มีในคลังทิ้งทั้งหมด



           ปัจจุบันมีประเทศกว่า 123 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญานี้ ยกเว้น ยูเครน รัสเซีย และสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้นจึงสามารถใช้คลัสเตอร์บอมบ์ทางการทหารได้



#คลัสเตอร์บอมบ์



#ระเบิดลูกปราย



#สงครามรัสเซียยูเครน



CR ขอบคุณภาพ BBC



 

ข่าวทั้งหมด

X