คุมเข้ม!เกาหลีใต้ ตรวจอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ไม่มีที่มาจำคุก-ปรับ กังวลน้ำเสียโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

05 กรกฎาคม 2566, 11:16น.


           หลังจากที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เปิดเผยว่า แผนของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่ทะเล สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในเรื่องความปลอดภัย ไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม



         สำนักข่าวยอนฮัพ รายงานว่า เกาหลีใต้ จะเริ่มใช้มาตรการเข้มข้นตั้งแต่เดือนนี้เป็นเวลา 100 วัน ตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น นายพัค ซอง ฮุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาสมุทรและประมงเกาหลี บรรยายสรุปเกี่ยวกับปัญหาฟุกุชิมะว่า การตรวจสอบพิเศษจะมีความเข้มข้นมาก เนื่องจาก กังวลเกี่ยวกับแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนของญี่ปุ่นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเพื่อให้ประชาชนซื้อและรับประทานอาหารทะเลที่ปลอดภัยโดยไม่ต้องกังวล



        มาตรการการตรวจสอบจะระดม บุคลากรทั้งหมดที่มีอยู่จากกระทรวง รัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยยามฝั่ง ตลอดจนกลุ่มพลเมืองและสมาคมบริการอาหาร ช่วยกันพิจารณาว่าผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าปลีก ระบุแหล่งที่มาของอาหารทะเลหลักที่มาจากต่างประเทศอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่น หอยเชลล์ ปลาทรายแดง และปลาหมึกทะเล ผู้ที่ไม่ทำเครื่องหมายจากประเทศต้นทาง อาจถูกปรับสูงสุด 10 ล้านวอน (7,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และผู้ที่ปลอมแปลงเครื่องหมาย อาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปีหรือปรับสูงสุด 100 ล้านวอน



       เมื่อปี 2556 เกาหลีใต้ สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจาก 8 จังหวัดของญี่ปุ่นใกล้กับฟุกุชิมะ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับระดับกัมมันตภาพรังสีจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิพัดถล่มญี่ปุ่นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดรุนแรง 9.0 เมื่อปี 2554 ทำให้เตาปฏิกรณ์ 3 ตัวของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับความเสียหาย ปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้า นับเป็นอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุดนับแต่เกิดเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ยูเครนเมื่อปี 2529



       ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เกาหลีใต้ นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น 10,710 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2 ของการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดของประเทศ



 



#เกาหลีใต้



#โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ



CR:Yonhap,BBC



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X