รัฐบาลเตือนผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่มสูง พบในกรุงเทพฯถึง 38 ราย แนะเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

05 กรกฎาคม 2566, 09:43น.


           นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร ในประเทศไทย ช่วงเดือน มิ.ย.จำนวน 48 ราย  สูงกว่าเดือน พ.ค.  ที่ได้รับรายงาน 21 ราย  เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า เป็นคนไทย 41 ราย ชาวต่างชาติ 7 ราย



         ส่วนใหญ่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 38 ราย , จ.สมุทรปราการ 3 ราย , ชลบุรี นนทบุรี จังหวัดละ 2 ราย , สมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี จังหวัดละ 1 ราย ผู้ป่วย 48 ราย เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีประวัติติดเชื้อเอชไอวี ร่วมด้วย 22 ราย  โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักก่อนป่วย



          รัฐบาลจึงขอประชาสัมพันธ์ ถึงผู้ทำงานภาคบริการและแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน ป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษวานร ตามหลักปฏิบัติของกรมควบคุมโรค โดยงดการสัมผัสแนบชิดกับผิวหนังผู้ป่วย หรือผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน รวมทั้งขอให้สังเกตบุคคลที่คลุกคลีใกล้ชิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ



          ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ยืนยัน ยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต และโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยเลี่ยงไม่สัมผัสแนบชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รวมทั้งแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น  และสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น ตุ่ม ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร



          รวมทั้งกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือเป็นฝีดาษวานรในขณะป่วย ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น บริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ เจ็บคอ คัดจมูก หรือ ไอ มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที



          กรมควบคุมโรคจึงขอความร่วมมือเครือข่ายที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เช่น โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม สถานประกอบการสุขภาพ ประเภทสปา ซาวน่า ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และคำแนะนำในการสังเกตอาการโรคฝีดาษวานรสำหรับประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการป้องกันโรคฝีดาษวานรแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง รวมทั้งกำชับไปยังคลินิกรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้เพิ่มการสื่อสารมาตรการป้องกันโรคฝีดาษวานรอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับเรื่องการดูแลสุขภาพอื่น และโรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เอง แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล  เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีอาการแทรกซ้อน สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่สถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 02-521-1668 และอาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 02-286-0431 หรือ สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422



 



#โรคฝีดาษลิง

ข่าวทั้งหมด

X