เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนดินช่องเขาขาด ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่พิษณุโลก

29 มิถุนายน 2566, 12:15น.


           เเผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์เขื่อนสิริกิติ์ รายงานการตรวจสอบเขื่อนในพื้นที่ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ความลึก 5 กม. อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 136 กม. ว่าเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนดินช่องเขาขาด จ.อุตรดิตถ์ ไม่ได้รับผลกระทบ



           ในส่วนเครื่องวัดอัตราเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหว เขื่อนสิริกิติ์ ตรวจวัดได้ ค่าสูงสุด 0.00132 g (ค่าออกแบบรับแรงแผ่นดินไหวที่ 0.1g) เขื่อนสิริกิติ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบเขื่อน และอาคารระบายน้ำเป็นกรณีพิเศษ ไม่พบความผิดปกติและความเสียหายกับตัวเขื่อนและอาคารประกอบอื่นๆ



           ด้าน ดร.ชมภารี ชมพูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่าทำให้เกิดแรงสั่นไหวที่จ.พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และ จ.เลย เป็นรอยเลื่อนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีของการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีมาก่อน เป็นรอยเลื่อนที่ไม่เคยปรากฏ เป็นการสั่นไหวตามแนวทางพาดผ่านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ แนวคู่ขนานกับเทือกเขาเพชรบูรณ์ ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องการเกิดอาฟเตอร์ช็อก กรมอุตุนิยมวิทยา ขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับแรงสั่นไหวติดตามเฝ้าระวัง เก็บสิ่งของที่อยู่บนที่สูง ศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่ได้อยู่ในพื้นที่เขตเมือง น่าจะมีผลกระทบกับประชาชนน้อย แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก ประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพิจิตร ประมาณ 15 กิโลเมตร เมื่อคืนนี้มีประชาชนส่งข้อมูลเข้ามาที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ประมาณ 144 ราย ซึ่งในวันนี้(29 มิ.ย.66) กรมทรัพยากรธรณี จะประชุมติดตามและลงพื้นที่



          หลังจากที่กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา สามารถจับสัญญาณได้ว่ามีแรงสั่นไหว หรือ สั่นสะเทือน ก็จะคำนวณพิกัดหาจุดศูนย์กลาง และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจังหวัดต่างๆ กรมชลประทาน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เมื่อคืนนี้ใช้เวลา 17 นาที ในการแจ้งเตือน พร้อมทั้งประชุมร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด สั่งการตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์



          อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จําเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทําหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการ ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แจ้งเตือนภัยให้พื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล



#แผ่นดินไหว



#พิษณุโลก



CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ สวท.พิษณุโลก,กรมอุตุนิยมวิทยา



 

ข่าวทั้งหมด

X