กรมทรัพยากรธรณีจับตา ‘รอยเลื่อนที่มองไม่เห็น’ สาเหตุแผ่นดินไหวพิษณุโลก

29 มิถุนายน 2566, 10:28น.


          ความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางที่ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก



          ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี  ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนใกล้เคียงที่มีพลัง 16 แห่ง ที่กรมทรัพยากรธรณีเคยศึกษามาไว้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว  แต่เกิดจากการเลื่อนตัวของ “รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ” ซึ่งรอยเลื่อนนี้อยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี



          ผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) หรือรอยเลื่อนที่มองไม่เห็น (blind fault)  ดังกล่าว ไม่เคยอยู่ในแผนศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีมาก่อน เพราะไม่เคยปรากฏหลักฐานแผ่นดินไหวมาก่อนในอดีต  ดังนั้น ในช่วงเช้านี้ กรมทรัพยากรธรณี จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวใน จ.พิษณุโลก  และเตรียมลงพื้นที่ติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวบริเวณรอบศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหว เพื่อศึกษาข้อมูล สำรวจพฤติกรรมและความเสี่ยง หากผลศึกษาพบว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังก็จะถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังแห่งที่ 17 ของไทย



           สำหรับประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณีเคยศึกษารอยเลื่อนมีพลังไว้ทั้งหมด 16 รอยเลื่อน เช่น รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เป็นต้น



          ส่วนประวัติการเกิดเหตุแผ่นดินไหวในจังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2566  ขนาด 4-4.9 จำนวน 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3  จำนวน 5 ครั้ง  ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชน กรมทรัพยากรธรณี โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบ  และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวบริเวณโดยรอบเพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวตาม (aftershock) อย่างใกล้ชิด



 



#แผ่นดินไหวพิษณุโลก



#แผ่นดินไหวพิจิตร



#รอยเลื่อนที่มองไม่เห็น



CR ขอบคุณภาพ เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี



 

ข่าวทั้งหมด

X