กทม.นำร่อง 5 จุด ใช้ AI ตรวจจับขับขี่บนทางเท้า เรียกปรับแล้ว 778 ราย

21 มิถุนายน 2566, 11:28น.


          นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.แถลงมาตรการยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องปรามขับขี่บนทางเท้า โดยใช้ระบบ  AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวและแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติ โดยนายชัชชาติ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ การจับกุมผู้กระทำความผิด จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจดักจับ เนื่องจาก เป็นความผิดซึ่งหน้า แต่บางครั้งก็เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้กระทำผิด นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องความโปร่งใส กทม.จึงนำเทคโนโลยีระบบประมวลภาพ AI มาเชื่อมต่อกับระบบกล้อง CCTV ที่มีอยู่เดิม ให้สามารถตรวจจับผู้ขับขี่บนทางเท้า กล้องอ่านทะเบียนรถ บันทึกข้อมูลผู้กระทำผิดและจะส่งใบเสียค่าปรับ 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด โดยตั้งเป้าติดตั้งทั่ว กทม. 100 จุด 



          ขณะนี้ได้นำร่องใช้แล้ว 5 จุด คือ ปากซอยรัชดาภิเษก 36 ปากซอยเพชรเกษม 28 หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ ปากซอยเพชรบุรี 9 และ ปั๊มปตท.เทพารักษ์ โดยยกตัวอย่างในซอยรัชดา 36 ที่ติดตั้งในช่วง 2 เดือน พบคนทำผิดแล้วเกือบ 3,000 คน ช่วงเวลาที่ทำผิดสูงสุด คือ ช่วง 08.00 น. และ 17.00 น. เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา กทม.เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดขี่รถบนทางเท้า กทม.จากการให้เทศกิจไปตั้งโต๊ะในจุดที่พบการทำผิดบ่อยๆ ทั่ว กทม. พบผู้ทำผิด 799 ราย เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 778 ราย  ดังนั้น จากนี้ จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการตรวจจับ



           นอกจากนี้ จะมีการประสานข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก ในกรณีผู้กระทำผิดไม่ยอมมาจ่ายค่าปรับ ก็จะไปต่อทะเบียนไม่ได้ อย่าคิดว่าไม่มีใครเห็น เพราะระบบ AI จะตรวจจับข้อมูลทุกอย่าง หากทำผิดซ้ำๆ ก็จะบันทึกไว้ในประวัติ เช่น หากเป็นไรเดอร์ ก็อาจจะกระทบกับหน้าที่การงาน เพราะระบบจะแยกข้อมูลได้หมดว่า เป็นรถไรเดอร์เจ้าไหน  ซึ่ง กทม.หวังว่า จะเป็นแนวทางที่ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถบนทางเท้า รวมทั้งกล้อง AI ตรวจจับรถจอดที่ห้ามจอด ซึ่งมีใช้งานแล้ว เช่น บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์



           กทม. ยังมีแผนในการนำระบบปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ มาใช้ในการควบคุมไฟจราจรด้วย  โดยใช้วิเคราะห์ความหนาแน่นของรถยนต์บนท้องถนนในการจัดการเส้นทางการจราจร ซึ่งจะช่วยให้การจราจรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น อาจต้องพิจารณา ในจุดที่เกิดเหตุขับขี่บนทางเท้าจำนวนมาก ว่าเกิดจากกายภาพของถนนหรือไม่ เช่น มีจุดกลับรถที่อยู่ไกล ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงกายภาพถนนในอนาคต  แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ข้ออ้างในการฝ่าฝืนกฎหมาย



 



#ขับขี่บนทางเท้า



#กรุงเทพมหานคร 

ข่าวทั้งหมด

X