การติดตามค้นหาเรือไททัน(Titan) เรือดำน้ำพาเที่ยวชมซากเรือไททานิคของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชันส์ (OceanGate Expeditions) หลังสูญหายในมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่วันอาทิตย์ 18 มิ.ย.66 พร้อมคนบนเรือ 5 คน ขาดการติดต่อกับหน่วยดูแลชายฝั่ง หลังดำลงไปใต้ทะเล 1 ชั่วโมง 45 นาที จุดมุ่งหมายเพื่อชมซากเรือไททานิค ที่จมอยู่ก้นทะเลลึกในระดับความลึก 12,500 ฟุต(3,800 เมตร)ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา
CNN รายงานว่า อลิสแตร์ เกรก ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า หากเรือดำน้ำประสบเหตุฉุกเฉินกลางการดำน้ำ นักบินน่าจะปล่อยน้ำหนักให้ลอยกลับสู่ผิวน้ำ แต่การขาดการสื่อสาร เป็นความท้ายทายอย่างมากในการค้นหาเรือดำน้ำขนาดเท่ารถตู้ในมหาสมุทรแอตแลนติกอันกว้างใหญ่
เอริค ฟูซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำและรองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแอดิเลด อธิบายปัจจัยเสี่ยงที่ยังไม่มีใครรู้สาเหตุที่เรือไททันหายไปว่า ความเสี่ยงหลักเรื่องหนึ่ง คือ ไฟฟ้าดับ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้ เรือดำน้ำบางลำมีแหล่งพลังงานสำรองในกรณีที่ระบบไฟฟ้าหลักล้มเหลว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเรือไททัน มีพลังงานสำรอง กรณีที่หายไปหรือไม่ หรือ อาจจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร อาจทำให้เกิดไฟไหม้บนเรือ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำลายระบบของเรือเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดควันพิษในพื้นที่ปิดขนาดเล็ก ทำให้เกิดอันตรายได้ หรืออาจจะมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม และที่ระดับความลึกของเรือไททานิค แรงกดดันมหาศาลจะทำให้เรือส่วนใหญ่ระเบิดได้ เรือไททัน ติดตั้งคุณลักษณะด้านความปลอดภัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตรวจสอบแรงกดบนเรือ จึงได้แจ้งให้นักบินที่ช่วยค้นหาตรวจสอบเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องกระแสน้ำที่แรงใต้น้ำและซากเรือไททานิคบนพื้นมหาสมุทร มีโอกาสที่เรือดำน้ำอาจติดเข้าไปภายในซากเรือไททานิค หรือถูกปิดกั้นเส้นทาง
CNA รายงานว่า ทีมงานจากทั่วโลก กำลังทำงานแข่งกับเวลา เพื่อหาตำแหน่งเรือและลูกเรือ 5 คน ก่อนที่ออกซิเจนจะหมด คาดว่าจะเหลืออีกไม่เกิน 1 วันครึ่งนับจากนี้
สอดคล้องกับ รอยเตอร์ รายงานว่า หน่วยกู้ภัย ทำงานแข่งกับเวลา ออกสำรวจพื้นที่หลายพันตารางไมล์ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
เครื่องบินของสหรัฐฯ และแคนาดา ค้นหาพื้นที่มากกว่า 7,600 ตารางไมล์ ซึ่งใหญ่กว่ารัฐคอนเนตทิคัต
กองทัพแคนาดา หย่อนทุ่นโซนาร์เพื่อฟังเสียงที่อาจมาจากเรือไททัน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
กัปตันเจมี เฟรเดอริก ผู้ประสานงานเผชิญเหตุจากหน่วยยามฝั่งที่หนึ่ง แถลงว่า การค้นหาต้องใช้หน่วยงานหลายแห่งที่มีความเชี่ยวชาญและใช้อุปกรณ์พิเศษที่ได้รับมาจากหน่วยบัญชาการ ขณะที่ หน่วยยามฝั่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานภารกิจค้นหาและกู้ภัย เราไม่มีความเชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการค้นหาในลักษณะนี้
นายจอห์น เคอร์บี ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ติดตามเฝ้าดูเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด กองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือหากจำเป็น
บริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชันส์ ผู้ให้บริการนำเที่ยวใต้ทะเลลึก ช่วยหาแนวทางและอุปกรณ์เพิ่มเติม
#เรือดำน้ำไททัน
CR:CNN,Reuters,CNA